ประชากรต่างแดน
แล้ว......สันติภาพจะกลับมา
อมรา สุนทรธาดา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ระยะนี้มีเหตุการณ์ไม่สงบจากความเห็นต่างทางการเมืองเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ โดยมีระดับความรุนแรงและ
ความสูญเสียต่างกัน องค์กรสหประชาชาติต้องเข้าแทรกแซงเพื่อเป็นตัวกลางเจรจาให้เกิดสันติภาพโดยเร็ว คาบสมุทรเกาหลีกำลังเป็นจุดยุทธศาสตร์การถ่วงดุลอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสองค่าย ความขัดแย้งทางการเมืองมีอาการขึ้นๆ ลงๆ มาหลายปีแล้ว ที่มีผู้ร่วมแสดงด้วยคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และ ญี่ปุ่น เกาหลีถูกแบ่งเป็นสองประเทศหลังสงครามในช่วง ปี 2493-2496 สูญเสียทหารร่วมรบจากในและนอกประเทศ และพลเรือน ราว 5 ล้านคน สหรัฐอเมริกาใช้เส้นขนานที่ 38 แบ่งดินแดนของประเทศนี้หลังสงครามสงบตามนโยบายของประธานาธิบดีทรูแมน เพื่อ ‘ปราบผีคอมมิวนิสต์’
มีทั้งข่าวลือและข่าวจริงเรื่องการสะสมและทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลที่ประธานาธิบดี คิม จ็อง อึน ผู้นำหนุ่มเลือดร้อนของเกาหลีเหนือใช้เป็นไพ่เหนือมือทำสงครามเย็นกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ด้วยการอวดอ้างว่ามีศักยภาพยิงไกลถึงทำเนียบขาว โดยมีผู้นำรัสเซียขยิบตาส่งสัญญาณสนันสนุน เพื่อปรามเบาๆ ว่าอย่าส่งกองกำลังทหารมาป้วนเปี้ยนในเขตน้ำน่านนี้ในรูปแบบของการร่วมซ้อมรบนานเกินความจำเป็น
ความพยายามที่จะรวมเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวเป็นนโยบายที่ประธานาธิบดี คิม แด จุง แห่งเกาหลีใต้ริเริ่มเอาไว้อย่างจริงจังในปี 2543 จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และ ประธานาธิบดี อิม ย็อง ปัก และ ประธานาธิบดี โน มู ฮย็อน ช่วยสานต่อ แผนการรวมประเทศนั้นมีเป้าหมายและแรงบันดาลใจที่ยากจะลืมจากสงครามกลางเมืองและการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา จนทำให้คนในชาติเดียวกันต้องพลัดพรากทั้งๆ ที่ยังมีลมหายใจ
รัฐบาลเกาหลีใต้มีท่าทีสานต่อเจตนารมย์ในเรื่องนี้ โดยให้ National Unification Advisory Commission วิจัย ‘ต้นทุน’ การรวมประเทศ พบว่าอาจใช้งบประมาณคร่าวๆ ถึง 300-600 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระยะเวลา 10 ปี เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเกาหลีเหนือ ร้อยละ 60 ให้ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้้ และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชากรเกาหลีใต้อายุ 19 ปี ขึ้นไป พบว่า 8 ใน 10 คน เห็นด้วยกับการรวมเกาหลี แต่มีเพียง ร้อยละ 52.4 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับเรื่องการจ่ายภาษี ‘รวมชาติ’ (reunification tax)
การรณรงค์เพื่อ ‘หนึ่งเดียวเกาหลี’
ถ้าจะรวมชาติกันอย่างจริงจังรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องเตรียมงบประมาณมหาศาล เพื่อการฟื้นเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือในทุกด้าน เช่น การจัดหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การคมนาคม ระบบการศึกษา ทักษะแรงงาน และการสาธารณสุข เกาหลีใต้นั้นมีฐานเศรษฐกิจมั่นคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อยู่อันดับที่ 15 ของโลก ในขณะที่เกาหลีเหนืออันดับที่ 125 เกาหลีใต้เป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่ล้ำหน้าประเทศหนึ่งของโลก ปัจจุบันมีประชากร ราว 50 ล้านคนเปรียบเทียบกับเกาหลีเหนือซึ่งมีประชากร ประมาณ 24 ล้านคน เกาหลีใต้มีอัตราเกิดต่ำที่สุดในโลก ประชากรมีระดับการศึกษาสูงและมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เรียกว่าแตกต่างจากเกาหลีเหนือแบบมองไม่เห็นฝุ่น สิ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกถ้าจะรวมประเทศ คือด้านสาธารณสุขและการพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน กล่าวกันว่าเกาหลีเหนือขาดงบประมาณด้านนี้อย่างหนัก ยังใช้รถไฟแบบหัวรถจักรไอน้ำที่ใช้ในช่วงญี่ปุ่นยึดครองประเทศเมื่อ 60 กว่าปีในการขนส่ง สภาพถนนที่ถูกทำลายอย่างหนักช่วงสงครามยังไม่ได้ปรับปรุง ไฟฟ้าประปายังมีไม่เพียงพอ ประชากรเด็กมีภาวะขาดสารอาหารขั้นรุนแรง รัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อบำรุงกองทัพ และการซ่อมสร้างอนุสาวรีย์ผู้นำมากกว่าจะใช้เพื่อการอยู่ดีกินดีของประชาชน
หากเปรียบเทียบกับการรวมเยอรมันตะวันตก-ตะวันออก จะพบว่ามีข้อแตกต่างราวฟ้ากับเหว เพราะทั้งสองประเทศต่างเป็นประเทศอุตสาหกรรมหนักทั้งคู่ มีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ความต่างเชิงเศรษฐกิจ มีเพียง 3 : 1 ในขณะที่เกาหลีใต้และเหนือต่างกันถึง 100 : 1 เยอรมันใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านยูโร ตลอดช่วงเวลา 20 ปี เพื่อการฟื้นฟูประเทศ จนกลายเป็นหนึ่งเดียวเยอรมันที่ทรงพลังทั้งเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลก
วันรวมญาติครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ 2557 หลังจากที่ว่างเว้นไป ถึง 3 ปี
กำแพงเบอร์ลินทุบทิ้งไปแล้ว เวียดนามเหนือ-ใต้ เลิกแบ่งแยก เมื่อไรเกาหลีจะเป็นหนึ่งเดียว