ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ

ทิศทางนโยบายเพื่อผู้สูงอายุในประเทศไทย

มนสิการ กาญจนะจิตรา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ปัจจุบัน วยาคติหรืออคติต่ออายุ เช่น การมองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ หรือต้องการการช่วยเหลือโอบอุ้มจากสังคมและรัฐ ยังคงมีปรากฎให้เห็นอยู่ในสังคม การชี้แนะให้สังคมเปลี่ยนทัศนคติด้านลบต่อผู้สูงอายุ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับการก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ การประชุมสมัชชาระดับโลกว่าด้วยผู้สูงอายุครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2002 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ได้มีมติรับรองแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ โดยมีสาระสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีทิศทางนโยบายสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ 2) การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ 3) การมีสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่มวัย

แนวทางการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ จึงต้องมากกว่าการให้เพียงสวัสดิการ แต่ต้องครอบคลุมถึงสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมในสังคม และการตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุในสังคมอย่างแท้จริง ประเทศไทย ในฐานะประเทศภาคีสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติและขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการฯนี้ องค์การสหประชาชาติได้ติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุทุก 5 ปี โดยครั้งแรก คือ เมื่อปี 2007 และครั้งที่สอง ปี 2012

ทิศทางการดำเนินงานในประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่าแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545ะ2564)
นับเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดแนวทางขับเคลื่อนในประเทศไทย ด้วยปรัชญาที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการมาดริดฯ ดังนี้

การสร้างหลักประกันในวัยสูงอายุเป็นกระบวนการสร้างความมั่นคงให้แก่สังคม

ผู้สูงอายุมีคุณค่าและศักยภาพ สมควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีส่วนร่วมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม

ผู้สูงอายุมีศักดิ์ศรีและสมควรดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนของตนได้อย่างมีคุณภาพที่สมเหตุสมผล และสมวัย

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ใช่บุคคลด้อยโอกาสหรือเป็นภาระต่อสังคมและถึงแม้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งจะประสบความทุกข์ยาก และต้องการการเกื้อกูลจากสังคมและรัฐ แต่ก็เป็นเพียงบางช่วงเวลาของวัยสูงอายุเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าปรัชญาของแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ สอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิบัติการมาดริดฯ เช่น
เน้นการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี และการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ไม่ให้มองผู้สูงอายุทุกคน
เป็นผู้ด้อยโอกาสหรือภาระต่อสังคมที่ต้องการการโอบอุ้ม แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย และยังคงสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมได้

นอกจากนี้ ในด้านการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีบริการสุขภาพที่ครอบคลุมให้แก่ผู้สูงอายุ ตั้งแต่การส่งเสริม
สุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลตนเอง การรักษาพยาบาล การให้บริการสุขภาพที่บ้าน การเยี่ยมเยียนที่บ้าน รวมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งบริการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมสุขภาพและความเป็นดีอยู่ดีของผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนและเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เริ่มได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนมากขึ้น แม้จะยังไม่มีความเด่นชัดมากในขณะนี้ แต่ภาคราชการที่ให้บริการสาธารณะและเอกชนบางแห่งเริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการมากขึ้น เช่น ห้องน้ำสำหรับผู้ใช้รถเข็น การติดตั้งราวจับในห้องน้ำ หรือการทำทางลาดสำหรับรถเข็นที่เริ่มมีให้เห็นในหลายสถานที่มากขึ้น สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุจะช่วยเอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุสามารถออกมามีส่วนร่วมกับกิจกรรมในสังคมได้มากขึ้น

สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังคมทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมในการสร้างสังคมที่เหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่มวัยอย่างเท่าเทียม แผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ ประกอบกับแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติของประเทศไทยเป็นกรอบเริ่มต้นที่ดีในการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องการแผนการและการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

Since 25 December 2012