ประชาคมอาเซียนกับการก้าวสู่ภูมิภาค แห่งความมั่งคั่งร่วมกันในปี พ.ศ. 2573
The ASEAN Community and the Next Move towards “RICH” ASEAN in 2030
สักกรินทร์ นิยมศิลป์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังเตรียมพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจะทำให้อาเซียนซึ่งมีประชากรรวมกันราว 600 ล้านคนและมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าประเทศอินเดียกลายเป็นดาวเด่นทางเศรษฐกิจของโลก ทัดเทียมกับประเทศกำลังพัฒนาชั้นนำของโลกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย บราซิล เม็กซิโก และตุรกี ก็เริ่มเกิดคำถามขึ้นกับอาเซียนว่า ในอนาคตหลังการบรรลุเป้าหมายเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว อาเซียนจะก้าวไปสู่เป้าหมายใดต่อไป เพื่อให้สามารถเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้อาเซียนยังคงความสำคัญในฐานะกลุ่มภูมิภาคที่มีพลังการต่อรองทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลก
ตารางที่ 1: เป้าหมายของ “RICH” อาเซียนในปี ค.ศ. 2030
Resilience (R) ความยืดหยุ่น ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว | มีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังและยืดหยุ่นต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ |
Inclusiveness (I) การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกประเทศสมาชิก | ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและลดความยากจนของประเทศสมาชิก |
Competitiveness (C) ความสามารถในการแข่งขัน | เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิกและขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการพัฒนากลไก นโยบายและมาตรการต่างๆ |
Harmony (H) ความสามัคคีปรองดอง | รักษาความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับประชาคมระหว่างประเทศและร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน |
หมายเหตุ การแปลความหมายตามตารางข้างต้นเป็นการแปลความหมายของผู้เขียนบทความเอง มิใช่การแปลของเอกสารทางราชการ
ที่มา: http://images5.fanpop.com/image/photos/30900000/ASEAN-hetalia-30996333-896-599.jpg
เมื่อไม่นานมานี้ ได้เกิดโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาของอาเซียนในอนาคตราว 20 ปีข้างหน้าโดยธนาคารพัฒนาเอเชียได้ร่วมมือกับสำนักเลขาธิการอาเซียนและนักวิชาการจากประเทศสมาชิกอาเซียนศึกษาวิจัย รวมทั้งจัดประชุมสัมมนาขึ้นหลายครั้งจนเกิดเป็นเอกสารชื่อ ASEAN 2030: Toward a Borderless Economic Community เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมีการกำหนดเป้าหมายของอาเซียนในปี พ.ศ. 2573 ให้อาเซียนเป็นภูมิภาคแห่งความมั่งคั่งร่วมกัน (RICH ASEAN) โดยมีองค์ประกอบได้แก่ R มาจาก Resilience (ความยืดหยุ่น ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว) I มาจาก Inclusiveness (การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกประเทศสมาชิก) C มาจาก Competitiveness (ความสามารถในการแข่งขัน) และ H มาจาก Harmony
(ความสามัคคีปรองดอง) ซึ่งเป็นแนวคิดแบบองค์รวมของการพัฒนาที่ครอบคลุมมิติทั้งด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจของ RICH ASEAN หลายประเด็น ดังนี้
- มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียน ตามศักยภาพและแนวโน้มการพัฒนาของแต่ละประเทศ เพื่อให้สมาชิกอาเซียนยกระดับขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูง โดยแต่ละประเทศจะมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกัน อาทิ กัมพูชาจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 8.5 จากนี้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในอาเซียน ส่วนสิงคโปร์ คาดว่าจะเติบโตในอัตราเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2573 สิงคโปร์จะยังเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดถึง 87,725 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ส่วนประเทศไทย คาดว่าจะยังคงมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียเช่นเดิมด้วยขนาดเศรษฐกิจประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อปี และรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นประมาณสามเท่าเป็น 14,997 ดอลลาร์ สูงเป็นอันดับสี่รองจาก สิงคโปร์ บรูไนและมาเลเซีย ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าจาก 1.858 ล้านล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2553 เป็น 6.732 ล้านล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2573 และรายได้ต่อหัวจะเพิ่มขึ้นราวสามเท่าจาก 3,105 ดอลลาร์ เป็น 9,435 ดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน
- มีการระบุภาวะความท้าทายหลัก (Key 2030 challenges) ของอาเซียนใน 4 ด้านได้แก่ การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและวินัยทางการคลัง การปรับพื้นฐานทางเศรษฐกิจเข้าหากันควบคู่ไปกับการกระจายการพัฒนาอย่างเท่าเทียม การพัฒนาให้อาเซียนเป็นภูมิภาคของนวัตกรรมและการแข่งขัน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ถึงภาวะความท้าทายของแต่ละประเทศอีกด้วย โดยประเทศไทยประสบภาวะท้าทายในหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำ/การสร้างสมานฉันท์ในสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุมหลายสาขา เพื่อกระจายความเสี่ยง - มีการเสนอทางเลือกด้านนโยบายเพื่อให้อาเซียนสามารถบริหารจัดการภาวะความท้าทายต่างๆ และสามารถก้าวไปสู่การเป็น RICH ASEAN ตามเป้าหมายที่วางไว้ ที่สำคัญได้แก่ การเสริมสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและวินัยทางการคลังโดยการพัฒนากลไกด้านการเงินการคลังของอาเซียนขึ้นมา การปรับพื้นฐานทางเศรษฐกิจเข้าหากันและการเติบโตอย่างเท่าเทียมโดยการจัดทำกรอบความร่วมมือด้านการพัฒนา การจัดตั้งกองทุน ASEAN Convergence Fund และการพัฒนาระบบการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือของอาเซียนขึ้น การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นภูมิภาคแห่งนวัตกรรมและการแข่งขันโดยการจัดตั้งองค์กรใหม่เพื่อจัดทำตราสัญลักษณ์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของอาเซียน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสภาวะแวดล้อมโดยการปรับแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศอาเซียนให้สอดคล้องกันและเก็บภาษีกิจการที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
โดยสรุป แนวคิดเรื่อง RICH ASEAN ที่ธนาคารพัฒนาเอเชียและนักวิชาการจากประเทศอาเซียนร่วมกันศึกษาขึ้นนี้ เป็นความพยายามที่จะกระตุ้นให้เกิดการขบคิด ศึกษา และกำหนดทิศทางการพัฒนาของอาเซียน อันเป็นก้าวต่อไปของความร่วมมือภายหลังการเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต ซึ่งถือเป็นการศึกษานำร่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือใหม่ๆ อีกหลายด้าน รวมทั้งการจัดตั้งกลไกความร่วมมือเพิ่มขึ้น เพื่อให้อาเซียนสามารถก้าวข้ามภาวะความท้าทายในอนาคตจนกลายเป็นภูมิภาคแห่งความมั่งคั่งร่วมกันในที่สุด