ประเด็นทางประชากรและสังคม

การผลักดันกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศในสังคมไทย

สุชาดา ทวีสิทธิ์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 วรรค 2 ห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่ง
ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ศาสนา ถิ่นกำเนิด เพศ การศึกษา อายุ ความพิการ และความคิดเห็นด้านการเมือง ในที่นี้ จะขอหยิบยกประเด็นที่ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศมาคุยกัน คำว่า “ความแตกต่างเรื่องเพศ” ได้รับการอธิบายความหมายไว้ในในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ว่า นอกจากหมายถึง ความแตกต่างระหว่างชายหรือหญิงแล้ว ยังหมายรวมถึงความแตกต่างของบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (sexual identity) หรือเพศสภาพ (gender) หรือความหลากหลายทางเพศ (sexual diversity) แตกต่างจากเพศที่ผู้นั้นถือกำเนิดอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามพบว่า การห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศไว้ในรัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับในทางปฏิบัติ เพราะยังไม่มีการตรากฎหมายเฉพาะที่รับรองเรื่องนี้ ทำให้บุคคลโดยเฉพาะผู้หญิงและบุคคลหลากหลายทางเพศ ยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองเมื่อถูกเลือกปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆ กัน

          ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2548 ภาคประชาชน องค์กรผู้หญิง นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักวิชาการด้านผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง ได้ผลักดันให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกิจในฐานะที่เป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ต้องการให้รัฐภาคีสร้างมาตรการทางกฎหมายขึ้นมา เพื่อทำให้การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงบรรลุเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงรับหน้าที่ระดมความเห็นจากนักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรผู้หญิงบางส่วน จัดทำร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงขึ้น จนเป็นที่มาของ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศฉบับของรัฐบาล มีข้อสังเกตว่า การผลักดันกฎหมายภายในประเทศเพื่อคุ้มครองผู้หญิงไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติล่าช้าไปถึงยี่สิบปี ถ้านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 อันเป็นปีที่รัฐบาลไทยลงนามเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับนี้

          ปี พ.ศ. 2552 คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาล และเสนอให้เปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติเสียใหม่เป็น ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ อีกทั้งปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่ภาคประชาชนและเครือข่ายองค์กรผู้หญิงคัดค้าน เพราะเห็นว่าผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของ CEDAW โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มข้อยกเว้นในกรณีที่มีเหตุผลทางศาสนา ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศได้ ในปี พ.ศ. 2553 ภาคประชาชนโดยเครือข่ายองค์กรผู้หญิงทุกระดับหลายเครือข่ายร่วมกันระดมสมอง จัดทำร่างกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศฉบับประชาชน โดยมีเครือข่ายคนหลากหลายทางเพศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสนับสนุนด้วย หลังจากจัดทำร่างฯ เสร็จแล้วมีการรณรงค์และเจรจาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านนำร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

          แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นพรรคเพื่อไทย พบว่า การพิจารณากฎหมายฉบับประชาชนก็ยังไม่คืบหน้า ในขณะที่คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาลและส่งเข้ารัฐสภาเพื่อรอการพิจารณา
ผู้สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับประชาชนจึงรวมตัวกันคัดค้านอีกครั้ง มีการจัดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง พร้อมไปกับปรับปรุงร่างฉบับประชาชนให้มีเนื้อหาสมบูรณ์
ยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ภาคประชาชนได้เสนอกฎหมายฉบับของตนต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้กว่าหนึ่งหมื่นห้าพันชื่อ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งเป็นองค์กรอิสระจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ได้นำร่างฉบับประชาชนมาพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดเพื่อทำให้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนมีความชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมกับจัดทำเป็นข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เพื่อเป็นการสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับประชาชนอีกแรงหนึ่ง

          ร่างกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศในสังคมไทย เป็นกฎหมายอีกหนึ่งฉบับในจำนวนเกือบยี่สิบฉบับที่ประชาชนรวมตัวกันเข้าชื่อเสนอ ซึ่งเป็นไปตามหลักการระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่คาดว่า น่าจะช่วยอุดช่องว่างหรือเสริมระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนได้ อย่างไรก็ตาม คงต้องช่วยกันจับตามองว่า กฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศฉบับประชาชนจะผ่านขวากหนามที่เรียกว่าอคติทางเพศไปได้หรือไม่ ฉบับหน้าจะมาเล่าเนื้อหาสาระที่สำคัญในร่างกฎหมายฉบับประชาชนนี้ ว่ามีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง และใครจะได้ประโยชน์จากร่างกฎหมายนี้

Since 25 December 2012