นานาสาระประชากร

แว่นตาที่หายไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

วันนี้ ผมเริ่มเขียนเรื่องเพื่อลงพิมพ์ใน “ประชากรและการพัฒนา” ด้วยความกังวล ใจผมคอยจะแกว่งไปคิดถึงแว่นตาที่ใช้อยู่เป็นประจำว่ามันไปอยู่เสียที่ไหน ขอโทษครับ . . . ผมเขียนผิด ผมไม่ควรเขียนว่า “มันไปอยู่เสียที่ไหน” ที่จริงผมควรเขียนว่า “ผมไปลืมทิ้งมันไว้ที่ไหน” มากกว่า

    แว่นตาอันนี้เป็นแว่นพับได้ กดให้สั้นลงแล้วพับก้านจนมีความยาวและความบางพอดีกับกล่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาดพกพาใส่กระเป๋าเสื้อได้ แว่นตาอันนี้ผมใช้มาประมาณ 3 ปีแล้ว ต่อจากแว่นลักษณะเดียวกันอีก 2 อันที่ผมไปลืมทิ้งไว้ที่ไหนก็ไม่รู้

    ผมตามหาแว่นอันนี้มาหนึ่งวันเต็ม พยายามทบทวนประวัติชีวิตของตนเองตลอดหนึ่งวันที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่น่าจะยาก เพียงวันเดียวไม่ได้ไปไหนมาไหนหลายแห่งนัก ผมทบทวนว่าใช้แว่นตาครั้งสุดท้ายเมื่อไร ไปนั่งที่ใดบ้าง ใส่เสื้อกางเกงตัวใด มีโอกาสเอาแว่นตาไปวางไว้ที่ไหน และมีโอกาสทำตกหล่นที่ใดบ้าง

    เครื่องจักรความจำคงเสื่อมสภาพ

    คิดแล้วก็เจ็บใจตัวเอง เดี๋ยวนี้ผมมีอาการลืมบ่อยเหลือเกิน ลืมโน่นลืมนี่ ตั้งใจจะทำนั่นทำนี่ แล้วก็ลืมที่จะทำ ลืมชื่อคนที่เคยรู้จักกันดี เห็นหน้าบางคนแต่นึกชื่อไม่ออก เคยบ่นเรื่องนี้กับเพื่อนวัยเดียวกัน หลายคนบอกว่ามีอาการขี้ลืมเหมือนกัน  ทีแรกๆ ผมก็คิดว่าอาจจะเป็นเพราะวัย อายุที่มากขึ้นคงทำให้สังขารเสื่อมสภาพลง ร่างกายโดยเฉพาะส่วนสมองของเราคงเหมือนกับเครื่องจักรกล เมื่อใช้งานมานานก็ย่อมเสื่อมสภาพลงไปบ้าง การทำหน้าที่ของสมองเกี่ยวกับความทรงจำคงจะขัดข้องไปบ้าง

    บางครั้งพวกเราช่วยปลอบใจกันเองว่า ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุอย่างเราหรอกที่มีอาการหลงลืมอยู่เป็นประจำ ความจริง อาการขี้ลืมเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เด็กๆ ลืมทำการบ้านที่ครูสั่ง ลืมหนังสือ สมุดดินสอ ลืมคำสั่งสอนของพ่อแม่ เห็นอยู่บ่อยๆ ที่คนหนุ่มสาวลืมสิ่งของทิ้งไว้หนุ่มสาวบางคนมีความรักจนลืมวันลืมคืน ลืมโน่นลืมนี่ไม่แพ้เด็กๆ และคนแก่อย่างพวกเรา

    เพื่อนคนหนึ่งหาเหตุผลมาอธิบายสาเหตุของการหลงลืมว่า ที่เราลืมนั่นไม่ใช่เพราะสมองส่วนความจำเสื่อมสภาพ แต่เราลืมเพราะขาดสติ ถ้าคนเราไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ทำกิจการใดๆ อย่างมีสติแล้วก็จะไม่ลืม เหตุผลนี้น่าฟัง แต่ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก จะทำอย่างไรให้เรามีสติอยู่ตลอดเวลา คนเราก็ย่อมมีบางเวลาที่หลุดๆ ลอยๆ ไปบ้าง ถ้าเรามีสติเสียอย่าง อาการขี้หลงขี้ลืมทั้งหลายก็คงไม่เกิดขึ้น

    ขี้ลืมจึงกลัวเป็นโรคสมองเสื่อม

    ผมลองมาคิดดู การที่ผมกังวลเรื่องอาการขี้ลืมที่เกิดขึ้นกับตัวเองนี้ อาจเป็นเพราะผมเอาไปโยงกับโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ผมคิดไปว่าการขี้ลืมเป็นอาการเริ่มแรกของโรคสมองเสื่อม ในระยะหลังๆ นี้ ผมลืมบ่อยครั้งขึ้น แต่ผมก็ประหลาดใจว่าความจำเหตุการณ์ลึกๆ ไกลๆ ถอยหลังไปในอดีตกลับแจ่มชัดขึ้น เหตุการณ์เมื่อครั้งยังเป็นเด็กมากๆ ที่เกิดขึ้นมานานถึง 60 ปีมาแล้วกลับปรากฏเป็นภาพชัดเจนแจ่มแจ๋วขึ้นมาอย่างน่าประหลาด หรือคำพูดที่ว่า “คนแก่ชอบนึกถึงความหลัง” นั้นจะเป็นความจริง

    แต่ความจริงอาการขี้ลืมน่าจะเป็นคนละเรื่องกับโรคสมองเสื่อม โรคสมองเสื่อมประเภทที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ คือ อัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคที่สมองสูญเสียการทำหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับความจำ การคิด ภาษา การมีเหตุผล และพฤติกรรม  ผู้เป็นโรคสมองเสื่อมอย่างรุนแรงจะสูญเสียความทรงจำไปอย่างมาก บางรายจำอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์หรือตัวบุคคล ที่น่าเศร้าคือ ผู้ป่วยจำไม่ได้แม้แต่คนใกล้ชิดที่เคยรักที่สุด

    โรคสมองเสื่อมเป็นอีกโรคหนึ่งที่พวกเราไม่มีใครอยากเป็นกัน  แต่มีเพื่อนบางคนบอกว่าอัลไซเมอร์ไม่น่ากลัว เพราะเป็นโรคนี้แล้วคนเป็นไม่ต้องทุกข์ร้อน เมื่อสมองเสื่อมแล้ว ก็ไม่ต้องรับรู้เรื่องอะไร การรับรู้เรื่องความทุกข์ร้อนเป็นเรื่องของคน
รอบข้าง ผมมีประสบการณ์ตรง คือมีผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์อยู่ที่บ้าน ได้เห็นคนที่เคยอ่อนโยนกลับกลายเป็นก้าวร้าวในบางครั้ง ได้เห็นคนที่เคยรื่นเริงแจ่มใสกลับกลายเป็นเศร้าหมอง เมื่ออาการหนักขึ้นก็ถึงขั้นช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งในเรื่องการอาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร และการขับถ่าย

    ผมเห็นสภาพของผู้ป่วยอัลไซเมอร์แล้วรู้สึกสะท้อนใจ ไม่อยากจะคิดว่า ถ้าตัวเองเป็นอย่างนั้นบ้างแล้วภาพจะออกมาเป็นอย่างไร ผมไม่อยากเป็นโรคสมองเสื่อมจริงๆ

คุณย่าทิบ ศรีแจ้ อายุ 105 ปี

    ผมเคยอ่านหนังสือเรื่อง โอกินาวาโปรแกรมที่พูดถึงเรื่องของชาวโอกินาวาที่มีอายุยืนยาวมากๆ ได้เห็นสถิติการเป็น
อัลไซเมอร์ที่ผู้เขียนนำมาแสดงประกอบไว้ อัตราความชุกของโรคอัลไซเมอร์ในกลุ่มประชากรสูงอายุ ชาวอเมริกันกับญี่ปุ่นสูงพอๆ กัน ประชากรอายุ 65-69 ปี ของทั้งสองประเทศนี้ จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ 2-3% ถ้าประเทศไทยมีอัตราอัลไซเมอร์เท่ากับของประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ผมก็ไม่ควรจะวิตกกังวลมากนัก ผมเพิ่งอายุ 65 ปี ยังอยู่ในกลุ่มที่โอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยมาก แต่ถ้ามองไปไกลอีกสักหน่อย ถ้าผมมีชีวิตอยู่ได้จนถึงอายุ 85-89 ปี โอกาสที่ผมจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว คนญี่ปุ่นและอเมริกันในกลุ่มอายุนี้เป็นโรคอัลไซเมอร์มากถึง 30% อัตราสูงถึงขนาดนี้ คนที่รอดจากสมองเสื่อมได้ก็ต้องนับว่าโชคดีมากๆ ทีเดียว

    คิดถึงแม่ร้อยปี

    มหาวิทยาลัยมหิดลมีการประกวดแม่ร้อยปี เนื่องในโอกาสวันแม่ 12 สิงหาคม เป็นประจำทุกปี แม่ร้อยปีของมหิดล คือแม่ผู้มีอายุเกิน 100 ปี และยังมีสุขภาพแข็งแรง แม่ร้อยปีผู้ชนะประกวดไม่มีใครเป็นโรคสมองเสื่อมทุกๆ ปี ผมมีโอกาสไปเยี่ยมแม่ร้อยปีอย่างน้อยปีละ 2-3 ราย ผมเกิดความปิติปลาบปลื้มใจทุกครั้งที่ได้รับพรจากปากของผู้มีอายุเกิน 100 ปีที่ผมเรียกว่า “ศตวรรษิกชน” เหล่านี้

    เมื่อปี พ.ศ. 2553 ผมมีโอกาสเข้าพบท่านผู้หญิงยศวดี อัมพรไพศาล บูรณะสัมฤทธิ์ ผมเชื่อว่าท่านเป็นคนทำงานที่มีอายุสูงสุดในประเทศไทย เมื่อผมไปพบท่านนั้น ท่านมีอายุ 103 ปีท่านยังพูดให้โอวาทนักเรียนอัมพรไพศาลหน้าเสาธงทุกเช้า ท่านบอกเคล็ดลับ วิธีการป้องกันโรคสมองเสื่อมว่าให้ฝึกใช้สมองอยู่เสมอ ท่านเล่นปริศนาอักษรไขว้ภาษาอังกฤษเป็นประจำ ท่านผู้หญิงยศวดีฯ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 เมื่อมีอายุ 105 ปี

    ผมคิดถึงคุณย่าทิบ ศรีแจ้ อายุ 105 ปี ชาวเพชรบุรี ที่ยังมีสุขภาพทั้งกายและใจดีมาก เราไปเยี่ยมคุณย่าทิบเมื่อปีกลาย ท่านจำชื่อลูกหลานได้หมด ยังสวดมนต์ได้ และยังท่องคาถากันลืมเป็นบทกลอนให้เราฟังตั้งหลายเที่ยว

    ถ้าผมจะมีอายุยืนจนได้เป็น “ศตวรรษิกชน” ก็ขอให้เป็นเหมือนๆ กับแม่ร้อยปีมหิดลที่ผมได้ไปพบมา ท่านเหล่านั้นมีอายุยืนและไม่เป็นภาระให้กับลูกหลาน

    แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นโรคสมองเสื่อม

    โรคสมองเสื่อมหรือโรคความจำเสื่อมมีสาเหตุมาจากการสูญเสียเซลล์สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของเซลล์สมองเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเดินทางของโลหิตที่จะไปหล่อเลี้ยงสมองส่วนนี้ ถ้าเส้นโลหิตสะอาด  ไม่มีไขมันเกาะติดตามผนังหลอดเลือด โลหิตก็จะเดินทางไปบำรุงสมองได้สะดวก เซลล์สมองก็จะมีสภาพสมบูรณ์ ทำหน้าที่ในการจำ คิด และพูดได้อย่างแจ่มแจ๋ว

    แล้วจะทำอย่างไรให้หลอดเลือดสะอาดปลอดโปร่ง ไม่ตีบตัน หรือเปราะแตก ก็คงจะเรื่องอาหารการกินนี่แหละที่มีส่วนอย่างสำคัญ แต่ก่อนผมเคยกินใบแปะก๊วย (ginkgo) ที่ทำเป็นแคปซูล ซึ่งเชื่อกันว่าช่วยบำรุงรักษาสมองในส่วนที่เกี่ยวกับความจำ ผมเคยกินวิตามินอี ซึ่งกล่าวขานกันว่าป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อย่างดีเช่นเดียวกัน ได้ยินผู้เชี่ยวชาญหลายท่านพูดตรงกันว่ากินอาหารที่มี “สารต้านอนุมูลอิสระ” (antioxidant)  จะช่วยบำรุงรักษาหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง แล้วก็ได้ยินเขาพูดกันว่าให้กินอาหารที่มีไขมัน และคลอเรสเตอรอลต่ำ  จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินโลหิต

    ฟังผู้รู้พูดแล้ว ก็ให้คิดว่าวิธีป้องกันโรคสมองเสื่อมก็คงเหมือนกับการดูแลสุขภาพของเรานั่นแหละ กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารแป้ง ไขมัน และอาหารรสจัด หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียด ฯลฯ  วิธีการปฏิบัติตัวให้สุขภาพดีอย่างนี้ พวกเราส่วนมากรู้ดีแต่สิ่งที่ทำไม่ได้คือการปฏิบัติตามสิ่งที่รู้นั้น

    ตัวผมเองก็เช่นกัน มีความรู้ดี สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ  อะไรควรกิน อะไรไม่ควรกินแต่ปัญหาคือไม่สามารถปฏิบัติตนตามแนวความรู้นั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมเคยขู่ตัวเองว่า “สักวันหนึ่ง สูจะต้องรับกรรมที่ทำไว้ในวันนี้”
..........................................

ป.ล. หลังจากที่ผมเขียนบทความนี้จบลงได้ไม่นาน  ผมก็ได้พบกับแว่นตาที่หายไป คุณกาญจนา (อายุ 30 ปี) นักวิจัยที่ทำงานกับผม เห็นแว่นตาที่ผมลืมทิ้งไว้ในห้องประชุม จึงเก็บไว้ให้ด้วยความปรารถนาดี แต่เธอก็ “ลืม” บอกให้ผมทราบ และ “ลืม” ที่จะเอาแว่นตานั้นมาให้ผม เธอนึกขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อได้ยินข่าวการค้นหาแว่นตาของผมดังก้องไปทั่วสถาบันฯ

Since 25 December 2012