ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ

กระต่ายกับเต่า

มนสิการ กาญจนะจิตรา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

กระตายกับเต่าทุกคนคงคุ้นเคยกับนิทานอีสปเรื่องกระต่ายกับเต่าเป็นอย่างดี เรื่องราวระหว่างกระต่ายน้อยผู้มีความคล่องแคล่วว่องไว ได้ลงสนามวิ่งแข่งกับเจ้าเต่าน้อยผู้ต้วมเตี้ยมเชื่องช้า ไม่ว่าใครที่ได้เข้ามาสังเกตการณ์ก็ต่างมั่นใจว่า กระต่ายต้องเป็นผู้ชนะอย่างไม่ต้องสงสัย แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์พลิกผัน เมื่อเจ้ากระต่ายที่นำเจ้าเต่าอยู่ไกลตัดสินใจนอนพักใต้ต้นไม้ เมื่อตื่นขึ้นมา ก็พบว่า คู่แข่งของตนเข้าเส้นชัยไปเรียบร้อยแล้ว

  หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน จีนคงเปรียบได้ดังเจ้ากระต่ายในสนามแข่งขันของตลาดโลก ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วเหนือนานาประเทศ จีนจึงกลายเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งที่จะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในอีกไม่ช้า หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วแซงนานาประเทศนั้น ได้แก่ จำนวนประชากรที่มีสูงถึง 1.35 พันล้านคน ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้จีน ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

          อย่างไรก็ดี ขนาดของประชากรอาจไม่สำคัญเท่ากับว่า ประเทศนั้นมีประชากรอยู่ในวัยใดบ้าง นั่นคือ เราต้องพิจารณาสัดส่วนประชากรในกลุ่มอายุต่างๆ ประกอบด้วย หากเปรียบเทียบสองประเทศที่มีสภาพปัจจัยทุกอย่างคล้ายคลึงกัน และมีจำนวนประชากรเท่ากัน แต่ประเทศที่หนึ่งประกอบด้วยเด็กและคนชราเป็นหลัก ในขณะที่ ประเทศที่สองประกอบด้วยประชากรวัยแรงงานเป็นหลัก ประเทศที่สองย่อมมีกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าประเทศแรก เปรียบเสมือนรถที่มีขนาดและน้ำหนักที่เท่ากัน แต่ขนาดเครื่องยนต์ไม่เท่ากัน

          และตรงนี้นี่เอง ที่จีนอาจพลาดพลั้งให้กับเต่าได้

        อินเดียเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี แต่ทว่ายังคงเป็นรองจีนอย่างชัดเจนอยู่ จึงอาจเปรียบเทียบอินเดียได้ดังเต่า ที่น้อยคนคาดว่าจะแซงจีนไปได้ หากเปรียบเทียบด้านประชากร อินเดียมี 1.2 พันล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นที่สองรองจากจีน แต่ความแตกต่างสำคัญที่ทำให้จีนอาจเสียเปรียบอินเดียในระยะยาวได้ คือโครงสร้างอายุประชากรนี่เอง

          ปัจจุบันนี้ กลุ่มอายุที่มีมากที่สุดในจีนคือ กลุ่ม 40-59 ปี ในขณะที่อินเดียมีกลุ่มอายุที่มีมากที่สุดคือ กลุ่ม 0-14 ปี ความแตกต่างนี้จะยิ่งชัดเจนขึ้น เนื่องด้วยนโยบายของรัฐบาลจีนที่ให้มีลูกได้เพียงคนเดียว จึงยิ่งจะเป็นการลดจำนวนกลุ่มเด็กลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายถึง กำลังแรงงานในอนาคตจะมีสัดส่วนที่ยิ่งน้อยลงไปอีกด้วย ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ ในอีกไม่เพียงกี่ทศวรรษ จีนจะมีปิรามิดประชากรเป็นรูปสามเหลี่ยมคว่ำ นั่นหมายถึง ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่ ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานจะมีสัดส่วนที่น้อย และด้วยโครงสร้างประชากรที่ประกอบด้วยวัยพึ่งพิงเป็นหลักเช่นนี้ จีนอาจประสบกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจครั้งสำคัญได้ในอีกไม่ช้า

          ในทางกลับกัน อินเดียที่ปัจจุบันยังคงตามจีนเหมือนเต่าที่พยายามวิ่งแข่งกับกระต่าย แต่ด้วยโครงสร้างอายุประชากรที่ยังคงมีคนในวัยแรงงานอยู่มาก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย จึงมีโอกาสเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนมากกว่า อนาคตความแตกต่างทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศนี้จึงอาจลดช่องว่างลงเรื่อยๆ และในที่สุด อินเดีย อาจมีโอกาสตีตื้นและแซงหน้าจีนไปได้

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นดังที่กล่าวไว้แล้วในข้างต้น ปัจจัยด้านประชากรเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น ยังคงมีปัจจัยอีกมากมายและหลากหลายที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การมีโครงสร้างประเทศที่ดีที่เอื้อต่อการพัฒนา เช่น การมีระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการปกครองที่มีเสถียรภาพและมั่นคง การมีประชากรที่มีคุณภาพ และนอกจากนั้นประเทศจะต้องมีการสะสมทุนเพื่อการพัฒนาอย่างเพียงพอ

          นิทานเรื่องนี้จะดำเนินต่อไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศเป็นหลัก อินเดียจะต้องหาวิธีที่สามารถใช้ข้อได้เปรียบทางโครงสร้างอายุประชากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่ จีนจะต้องหาวิธีรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากโครงสร้างอายุประชากรที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่การหลับไหล จึงเป็นการแข่งขันของสองประเทศที่น่าจับตามองต่อไปอย่างยิ่ง

Since 25 December 2012