นานาสาระจากห้องสมุด
10 ปณิธานเพื่อสุขภาพที่ดี....เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่
เพ็ญพิมล คงมนต์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
คนเราทุกคนปรารถนาสุขภาพที่ดีให้กับตัวเอง หลายคนตั้งปณิธานในปีใหม่ว่าจะเริ่มลงมือทำตามความตั้งใจ แต่มีผลสำรวจพบว่า 25% ปณิธานที่ตั้งใจไว้ถูกโยนทิ้งหรือล้มเลิก ภายในสัปดาห์แรก แต่หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว มีผลวิจัยว่าคนที่ตั้งปณิธานโดยเขียนลงกระดาษไว้อย่างจริงจัง มีโอกาสที่จะทำสำเร็จมากกว่าคนที่คิดอยู่ในใจเฉยๆ ถึง 46%
10 ปณิธานเพื่อสุขภาพที่ดีเพื่อจะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ลองเลือกสักข้อที่คุณปลื้มและตั้งเป็นปณิธานของตัวเอง และทำให้สำเร็จรับรองสุขภาพดีขึ้นแน่นอน ปณิธานดังกล่าว คือ
- ลดน้ำหนัก เป็นปณิธานฮอตฮิต แต่ทำยากมาก สิ่งที่จะช่วยได้คือการทำตารางโภชนาการและจดบันทึกอาหารที่คุณทานเข้าไปจะช่วยได้มาก
- ติดต่อกับเพื่อนเก่า เป็นผลดีต่อสุขภาพใจที่จะติดต่อกับเพื่อนเก่าที่ห่างกันไปนาน มีผลวิจัยว่า ผู้มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนๆ อย่างเหนียวแน่น จะมีอายุยืนกว่าผู้ที่ไม่คบกับใคร การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทำลายสุขภาพตนเราพอๆ กับการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า
- เลิกบุหรี่ หลายคนอาจท้อเพราะเคยทำแต่ล้มเหลวหลายครั้ง และพยายามนึกถึงเงินที่คุณจะประหยัดได้เมื่อ เลิกบุหรี่ รวมถึงสุขภาพที่ดีขึ้น สองสิ่งนี้เป็นแรงจูงใจดีที่สุด
- ออมเงิน ปลดหนี้ การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ หรือขี่จักรยานแทนการขับรถ ออกกำลังกายที่บ้านแทนการเป็นสมาชิกที่ฟิตเนส ทำรายการของที่ต้องซื้อก่อนที่จะออกไปช้อปปิ้ง
- ลดความเครียด หากคุณเป็นคนเครียด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนอนไม่หลับ ซึมเศร้า โรคอ้วน โรคหัวใจ ความเครียดมักเกิดจากการทำงานอันยาวนาน นอนน้อย ขาดการออกกำลังกาย ทานอาหารไม่มีประโยชน์ และไม่ได้ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อน ควรเริ่มคลายเครียดด้วยการผ่อนคลาย นอนหลับ ออกไปสังสรรค์ หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้างจะรู้สึกดีขึ้น
- เป็นอาสาสมัคร ความสุขของคนเราเพิ่มขึ้นได้เมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น และคนที่มีความสุขย่อมมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย ผลการศึกษาในปี 2010 พบว่า คนที่มีอารมณ์ทางบวกมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าคนอื่นถึง 20%
- กลับไปเป็นนักเรียน การที่คนเราได้กลับไปสู่ห้องเรียนอีกครั้งจะช่วยพัฒนาตัวของคุณ ได้เพื่อนใหม่ และทำให้สมองมีพลังขึ้นได้ ผลการศึกษาในปี 2007 พบว่า คนวัยกลางคนที่กลับไปเรียนอีกครั้ง มีความจำ และทักษะการพูดดีกว่าคนที่ไม่ได้ทำ
- เลิกดื่มเหล้า การดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานานมีผลต่อสมองของคุณ ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้า สูญเสียความทรงจำ เป็นโรคตับแข็ง โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก มะเร็ง เป็นต้น
- นอนหลับให้เพียงพอ การพักผ่อนอย่างเพียงพอในตอนกลางคืนมีผลต่ออารมณ์ของคนเราและยังมีผลต่อร่างกายด้วย เพราะการนอนพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และการนอนยังช่วยทำให้ความทรงจำดีขึ้นด้วย
- ออกเดินทางท่องเที่ยว การใช้ชีวิตประจำวันแบบเดิมๆ อาจทำให้ทุกอย่างกลายเป็นกิจวัตร การท่องเที่ยว จะทำให้คุณได้เดินออกนอกกรอบ ไปผจญภัย การเดินทางแต่ละครั้งย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับตัวเรา ความคิดและจิตใจของเราอย่างคาดไม่ถึง
(ที่มา: จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข ปีที่ 9 ฉบับที่ 135 (มกราคม 2556) : 10-11)