ประเด็นทางประชากรและสังคม
“ท้องไม่ผิด แท้งไม่เถื่อน” อีกหนึ่งเรื่องเพศที่ต้องเปิดใจรับฟัง
กุลภา วจนสาระ
kulapa.vaj@mahidol.edu
ท้องไม่พร้อม
“มาหาหมอแล้วเขาบอกว่าท้อง ก็ตกใจ อยากจะเอาออกทันที คิดว่าจะทำไงดี อยากจะฆ่าตัวตาย ไม่กล้าบอกใครว่าถูกญาติแท้ๆ ข่มขืน อายด้วย กลัวด้วย เพราะมันขู่จะฆ่าให้ตายถ้าบอกใคร สุดท้ายตัดสินใจบอกแฟน (ผู้หญิง) ที่อยู่ด้วยกัน เขามาอยู่ดูแลที่โรงพยาบาลตลอดจนทำ (แท้ง) เสร็จ แม่ก็บอกว่าเลือดชั่วๆ ไม่ต้องเอาไว้ จะเอาความให้มันถึงที่สุด”
“พอหมอบอกว่าท้องนะ หนูก็ถามเขาเลยว่าหนูยังไม่พร้อมจะทำไง เอาออกได้มั้ย อยากเอาออกจะทำไง เพราะหนูลำบาก เลี้ยงลูก 2 คนก็หนักพอแล้ว จะไปรอดยังไง ถ้ามีอีกก็กลัวจะมาลำบากกะหนูอีก กลัวเลี้ยงไม่ได้ ไม่อยากให้ลูกอด อยากส่งให้เขาเรียนเท่าที่จะส่งได้ เราก็หากินไปวันๆ ภาระหนูเยอะ ก็คิดวันนั้นเลยว่ายังไงก็ไม่เอาไว้”
“หนูงงมากที่ท้อง เพราะหลังคลอดลูกคนที่สามให้หมอทำหมันแล้ว จริงๆ บอกหมอให้ทำตั้งแต่คลอดลูกคนที่สอง แต่หมอไม่ทำให้ เขาว่าอายุยังน้อย หนูก็มีลูกคนที่สามถึงได้บอกให้ทำหมัน แล้วมาท้องอีก พอไปคุยกับหมอคนที่ทำ เขาก็ไม่รับผิดชอบ เขาว่ามันบาป ก็ท้องต่อไปละกัน ไม่ใช่ความผิดเขา หนูก็อ้าว...แล้วหนูล่ะ ทำอะไรไม่ถูกเลย หนูจะเลี้ยงยังไง งานก็ไม่มีทำ ลูกคนที่สามก็ยกให้น้าไปเพราะเลี้ยงไม่ไหว”
เสียงของผู้หญิงที่ตัดสินใจไปยุติการตั้งครรภ์ข้างต้นต่างท้องไม่พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆ กัน1 รายแรกเป็นหญิงรักหญิงที่ถูกผู้มีศักดิ์เป็นลุงข่มขืน เก็บงำความลับไว้กับตัวเองจนกระทั่งเกิดอาการแพ้ท้อง เมื่อหมอยืนยันว่าท้อง 2 เดือน ก็รบเร้าให้หมอช่วยยุติการตั้งครรภ์ให้ แต่หมอปฏิเสธ จนต้องบอกความจริงกับแฟนและแม่ ซึ่งรบเร้าให้ไปแจ้งความเพื่อเอาผิดผู้กระทำ รายที่สองเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอายุ 32 เลี้ยงลูก 2 คน หาเช้ากินค่ำอย่างยากลำบาก ขณะที่รายที่สามเป็นหญิงสาวอายุ 22 ที่กำลังรอสมัครงาน มีลูกแล้ว 3 คน ครั้งนี้เป็นท้องที่สี่ ถือเป็นความผิดพลาดของหมอที่ทำหมันให้ แม้จะท้องไม่พร้อมและต้องการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย แต่ปัญหาที่ทั้งสามคนเผชิญก็คือ ไม่มีหมอคนใดในโรงพยาบาลยอมยุติการตั้งครรภ์ให้ ด้วยเหตุผลส่วนตัวเรื่อง “ผลพลอยบาป”
อาจกล่าวได้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ มีเทคโนโลยีเพื่อยุติการตั้งครรภ์พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น มีเครื่องมือ ตัวยาใหม่ๆ ที่ใช้ง่าย ปลอดภัย ราคาถูก และมีประสิทธิภาพสูง แต่ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์การทำแท้งในประเทศไทย พ.ศ. 2542 ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงท้องไม่พร้อมยังคงเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย และอันตรายจากการทำแท้งที่ไม่ได้มาตรฐานนับเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ มีผู้หญิงที่ป่วยด้วยภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งผิดกฎหมายเข้ารักษาตัวตามสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศหลายหมื่นคนต่อปี อัตราตายของผู้หญิงจากการทำแท้งสูงถึง 300 คนต่อแสนคน ขณะที่อัตราตายของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แล้วคลอดทารกมีชีพมีเพียง 20 คนต่อแสนคนเท่านั้น2
ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อจะไปทำแท้ง
ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต่างต้องแบกรับความเสี่ยงและผลทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ไว้เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะการแบกรับบทลงโทษทางสังคมเข้าไว้ในชีวิตตัวเองผ่านการตีตรา (stigma) แม้ว่าจะ “ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อจะไปทำแท้ง”3 ก็ตาม
การตีตราผู้หญิงท้องไม่พร้อมเป็นหนึ่งในสิ่งที่สังคมใช้ลงโทษผู้หญิงที่ออกนอกแบบแผนที่สังคมกำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ของคน ที่อนุญาตให้มีได้ในสถาบันการแต่งงาน ในวัยอันสมควร ในความสัมพันธ์ต่างเพศ ฯลฯ หรือเรื่องบทบาทของผู้หญิงที่ให้คุณค่ากับความเป็นเมียและแม่ ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่เลือกจะทำแท้งแทบทุกรายจึงเผชิญกับทุกข์ของการตัดสินใจของตัวเองอย่างเงียบงันไปตลอดชีวิต เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษทางสังคมที่รุนแรงกว่า อันเป็นการตีตราทางสังคมผ่าน (1) การสร้างภาพเหมารวม (stereotype) เช่นว่าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเป็นเด็กสาวใจแตก ไม่มีความรับผิดชอบที่จะเป็นแม่ที่ดีได้ ทำให้ครอบครัวต้องอับอายขายหน้า ฯลฯ (2) การเลือกปฏิบัติและการกีดกันผู้หญิงท้องไม่พร้อม เช่น ถือว่าผู้หญิงที่เคยทำแท้งนั้นเป็นคนบาป ทำอะไรก็ไม่เจริญ ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง และ (3) การมีส่วนในการทำแท้งนำมาซึ่งผลพลอยบาป เป็นต้น
อคติเช่นนี้เองที่ทำให้สังคมไทยมองไม่เห็นว่าชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้มีคุณค่าพอที่จะได้รับการดูแลรักษา และไม่คิดเลยว่าการไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการทำแท้งอย่างปลอดภัยนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงรูปแบบหนึ่ง
ท้องไม่ผิด แท้งไม่เถื่อน4
ภายใต้ความกังวลของการเปลี่ยนแปลงประชากรไทยไปสู่การเป็นสังคมสูงวัย อัตราการเกิดที่ลดลง สวนทางกับสถิติแม่วัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ประเด็นทางประชากรที่ตั้งคำถามกับการเกิดอย่างมีคุณภาพในสังคมไทย สิ่งหนึ่งที่ควรเปิดใจรับฟังในการพิจารณาทางเลือกต่างๆ ก็คือทำอย่างไรจึงจะให้ท้องทุกท้องต่อไปนี้ในสังคมไทยเป็นท้องที่ไม่ผิด และการทำแท้งไม่ใช่การทำแท้งเถื่อน สามารถเข้าถึงมาตรฐานบริการที่ปลอดภัยตามสมควร เพื่อให้การมีชีวิตอยู่ในสังคมไทยเป็นชีวิตที่มีคุณภาพ
1 ข้อมูลสัมภาษณ์จาก โครงการวิจัยอุปสรรค์การเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการเข้าถึงระบบบริการทำแท้งที่ปลอดภัยของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม. 2556.
2 Nongluk Boonthai, Suwanna Warakamin, Viroj Tangcharoensathien,and Metee Pongkittilah. 2003. Voices of Thai Physicians on Abortion. Nonthaburi: Reproductive Health Division, Department of Health, Ministry of Public Health.[Unpublished Document].
3 กฤตยา อาชวนิจกุล. 6 สิงหาคม 2544. การสัมมนา ‘ปัญหาการยุติการตั้งครรภ์’. จัดโดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
4 กฤตยา อาชวนิจกุล. 18 มิถุนายน 2556. เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘การสร้างความเข้มแข็งงานขับเคลื่อนด้านความเป็นธรรมทางเพศ:ประสบการณ์จากเพื่อนบ้านอาเซียน’. จัดโดย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงสสส.