ประชากรต่างแดน

ชีวิตสองฝั่งแม่น้ำไนล์

อมรา สุนทรธาดา
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 “แม่น้ำไนล์” มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 6,650 กิโลเมตร ได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่มีความยาวที่สุดในโลก มีพื้นที่รับปริมาตรน้ำได้ถึง 3,400,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อพูดถึงแม่น้ำไนล์ เราจะนึกถึงประเทศอียิปต์และการล่องเรือสำราญเพื่อชมเมืองต่างๆ รวมถึงโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี แต่น้อยคนนักที่จะทราบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีพิพาทในกลุ่มประเทศที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่าน

แม่น้ำไนล์ไหลผ่าน 11 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ รวันดา บุรุนดี แทนซาเนีย คองโก เอริเทรีย เคนยา ยูกันดา เอธิโอเปีย ซูดาน และซูดานใต้ โดยไหลลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนเหนือของอียิปต์ แม่น้ำสายนี้เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงประชากร ราว 430 ล้านคน ที่มีความหลากหลายในการดำรงชีวิต ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาต่างๆ ที่อยู่คู่กับผู้คนสองฝั่งมานานนับหลายทศวรรษ ทั้งปัญหาความยากจน อุทกภัยและการระบาดของโรคติดต่อ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการแหล่งน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการแย่งชิงทรัพยากรของประเทศสมาชิก การศึกษาทางนิเวศน์วิทยาพบหลักฐานที่ชี้ชัดว่าแม่น้ำไนล์กำลังเผชิญวิกฤติจากภาวะโรคร้อน ปริมาณน้ำฝนที่น้อยลงทำให้เกิดภัยแล้ง ภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษจากหลายๆ สาเหตุ เช่น ภัยจากสารเคมีหลังการสู้รบอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง ปี พ.ศ. 2541-2543 ระหว่างเอธิโอเปียและเอริเทรีย ซึ่งมีการทิ้งขยะและสารปนเปื้อนจากอาวุธสงครามลงในแม่น้ำไนล์เป็นจำนวนมาก


  เส้นทางแม่น้ำไนล์

กรณีพิพาทที่ยังหาทางออกไม่ได้ระหว่าง เอธิโอเปีย ซูดาน และอียิปต์ ในการจัดสรรผลประโยชน์จากแม่น้ำไนล์ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยอียิปต์ ถูกมองว่าได้รับประโยชน์มากกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยระบบชลประทานที่กักเก็บน้ำปริมาณมหาศาลสำหรับการปลูกฝ้ายที่มีผลผลิตมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การประมง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้ประเทศ ราว 12,000 ล้านยูโร/ปี หรือประมาณ 10% ของรายได้ประเทศทั้งหมด เรียกว่าอียิปต์แทบขาดแม่น้ำสายนี้ไม่ได้เลยในการหล่อเลี้ยงประชากรประมาณ 80 ล้านคน ให้อยู่รอด (ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 150 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2593) สำหรับเอธิโอเปียนั้นมีประชากรประมาณ 91 ล้านคน ได้รับผลกระทบในฤดูน้ำหลากและขาดน้ำเพื่อการบริโภคและเกษตรกรรมอย่างรุนแรงทุกปีในช่วงหน้าแล้ง จึงจำเป็นจะต้องเร่งนโยบายบริหารจัดการน้ำให้สมกับที่ครอบครองปริมาณน้ำในแม่น้ำไนล์ ถึง 84% โดยการเดินหน้าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อันดับ 11 ของโลก เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 6,000 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 130,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้การได้ในปี พ.ศ. 2560 ในแง่ของขนาดและศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าถือว่าไม่แพ้เขื่อนอัสวานของอียิปต์ที่เป็นผลงานของอดีตประธานาธิบดีนัสเซอร์ที่ได้รับการช่วยเหลือ
จากรัฐบาลอเมริกา

การสร้างเขื่อนดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากหลายประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะอียิปต์ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะเป็นประเทศปลายน้ำและต้องพึ่งพาเพื่อความอยู่รอดของประชากรเนื่องจากประเทศมีพื้นที่เป็นทะเลทรายถึง 90% ซึ่งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเอธิโอเปียสร้างเขื่อนนี้เสร็จ ผลกระทบต่ออียิปต์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ปริมาณน้ำในเขื่อนอัสวานจะลดลงจนอาจไม่เพียงพอต่อการชลประทานเพื่อการเพาะปลูกและผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศ รวมถึง ขายให้ประเทศใกล้เคียง ศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจะลดลงถึงประมาณ 25-40% ซึ่งประชากรราว 2 ล้านครอบครัวจะได้รับผลกระทบทันที

การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำไนล์หลากรูปแบบ

การเปิดพื้นที่เจรจาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในท้ายที่สุด ได้ข้อตกลงในการตั้งคณะกรรมการภายใต้ชื่อ Nile Basin Initiative (NBI) ประกอบด้วยผู้บริหารจาก ประเทศสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำไนล์สำหรับขจัดความยากจนและการพัฒนาแหล่งน้ำที่ยั่งยืน รวมถึงขจัดการใช้ประโยชน์หรือการกระทำใดๆในเชิงแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง มีกำหนดการประชุมปีละครั้ง และมีคณะทำงานย่อย ทำหน้าที่ดำเนินการและติดตามผลทุก 3 เดือน ที่ผ่านมาแผนการดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะ 3 ประเทศพี่ใหญ่ คือ อียิปต์ ซูดานและเอธิโอเปีย ที่มีผลประโยชน์โดยตรงจากน่านน้ำ พลิกบทบาทกลับมาเป็นคู่กัดกันเหมือนเดิม และดูเหมือนว่าเอธิโอเปียจะมีท่าทีแข็งกร้าวเพิ่มขึ้นด้วยการเสริมพลังกองทัพ รวมทั้ง การใช้นโยบายต่างประเทศที่ดึงจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อหวังการสนับสนุนด้านงบประมาณ ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น อย่างน้อยๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ชุมชนเชื้อสายโอโรโมจากเอธิโอเปีย ที่อาศัยอยู่ในอียิปต์กำลังถูกต่อต้านจากเจ้าของประเทศ...แม้เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปก็ตาม...

อย่างที่เป็นมา และกำลังเป็นไป แม่น้ำไนล์ยังไหลรินเพื่อทำหน้าที่ของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลกโดยไม่นำพากับความขัดแย้งของมนุษย์...

* หมายเหตุ: ประธานาธิบดีนัสเซอร์ได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชนสำหรับผลงานครั้งนี้ แต่ไม่มีโอกาสชื่นชมความสำเร็จเพราะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย เพียง 4 เดือนก่อการเปิดเขื่อน

Since 25 December 2012