เวทีวิจัยประชากรและสังคม

ค.ศ. 2013 ปีแห่งการประท้วง เค้าลางสู่อาเซียนสปริง?

บุรเทพ โชคธนานุกูล
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ปี ค.ศ. 2013 นับได้ว่าเป็นปีแห่งการแสดงพลังของภาคประชาชนด้วยการประท้วง เพื่อเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ และการแก้ไขปัญหาการใช้อำนาจทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งหลายประเทศได้เกิดการชุมนุมประท้วงจากภาคประชาชน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อมองในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน พบว่าได้เกิดปรากฏการณ์การแสดงพลังทางการเมืองของประชาชนดังกล่าวเช่นเดียวกัน ดังเห็นได้จากประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งนับว่าเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่น่าสนใจครั้งสำคัญของภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีกระบวนการ วิธีการดำเนินการในการเรียกร้อง และเป้าหมายทางการเมืองในลักษณะที่สอดคล้อง และแตกต่างในบางประเด็น แต่จุดมุ่งหมายสำคัญที่สอดคล้องตรงกัน คือ เจตนารมณ์ของภาคประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกลไก หรือรูปแบบการใช้อำนาจทางการเมือง และโครงสร้างของระบบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ของประเทศเสียใหม่ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกของการเมือง และสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

การแสดงออกทางการเมืองของทั้งสองประเทศ อาจไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ในทางการเมืองในภูมิภาคอาเซียน ในอดีตพบว่าหลายประเทศ ได้มีการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การแสดงพลังของประชาชนเพื่อขับไล่ เฟอร์ดินันด์ เอดราลิน มาร์กอส  (ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์) ในปี ค.ศ. 1986 และกลุ่มคณะพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษาและประชาชนชาวพุทธในพม่า ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ในปี ค.ศ. 2007 โดยประเด็นที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแสดงออกทางการเมืองของไทยและกัมพูชาในครั้งนี้ คือ การเห็นถึงความเชื่อมโยง และสอดคล้องกันของแนวคิดในการแสดงออกทางการเมือง ยิ่งหากนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศของภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือที่เรียกว่าอาหรับสปริง (Arab Spring) ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 จะเห็นได้ว่าการประท้วงของทั้งสองภูมิภาคมาจากสาเหตุและปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือ ปัญหาการคอร์รัปชั่น ผูกขาดอำนาจทางการเมือง ปัญหาปากท้อง และปัญหาสังคม

แม้ว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นในกัมพูชาจะไม่ได้เกิดขึ้นจากต้นแบบการประท้วงของไทยทั้งหมด แต่สามารถกล่าวได้ว่าการประท้วงในไทยเป็น ภาพสะท้อนให้เห็นต้นแบบการแสดงพลังทางการเมืองที่เติมเต็มให้กับกัมพูชา ดังเช่นการอธิบายด้วยทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) และแนวคิดลูกโซ่ ที่อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยอธิบายไว้ว่า “เพราะในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและล้วนแต่ส่งผลสะเทือนต่อเหตุการณ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเสมือน “ลูกโซ่” ที่ร้อยเรียงกันไป...” เมื่อวิเคราะห์ลูกโซ่ดังกล่าวในอาเซียน พบว่าเกิดจากประเทศในอาเซียนมีปัญหาในด้านต่างๆ ร่วมกัน คือ ปัญหาการผูกดขาดอำนาจทางการเมือง ปัญหาการคอร์รัปชั่น ปัญหาสังคม (คือ การไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมในสังคม) ปัญหาเศรษฐกิจ (คือ รวยกระจุก จนกระจาย) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศแสดงออกทางการเมือง และกล่าวได้ว่าการประท้วงในไทยและกัมพูชา อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นลูกโซ่ของการประท้วงให้ทำงานในประเทศอื่นๆ จนอาจนำไปสู่ “อาเซียนสปริง” ก็เป็นได้

เมื่อวิเคราะห์ถึงความมั่นคงในความสัมพันธ์ของประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 นั้น แนวโน้มอาเซียนสปริงย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน อันจะกระทบถึงความมั่นคง ความไว้ใจ และเชื่อมั่นระหว่างประเทศสมาชิก เนื่องจากประชาคมอาเซียนยึดมั่นในหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองภายในของประเทศสมาชิกด้วยกัน หรือ Non-Interference Doctrine ดังนั้นประเด็นความขัดแย้งภายในของประเทศของสมาชิก จึงอาจจะเป็นปัญหานำไปสู่ประเด็นความไม่มั่นคงใหม่ ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาคมอาเซียนในอนาคตได้

ที่มา: http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=asatisa&date=16-05-2012&group=39&gblog=6

*บทความฉบับนี้ผู้เขียนมีเจตนารมณ์ที่จะนำเสนอให้ทราบถึงแนวโน้มของกระแสการเมืองในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น

1  สุรชาติ บำรุงสุข, ยุทธบทความ, มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681, 2-8 พ.ย., 2555, หน้า 36.

 

Since 25 December 2012