นานาสาระประชากร

รำพึงรำพันวันปีใหม่ ๒๕๕๗

ปราโมทย์ ประสาทกุล
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ไม่รู้ว่าเป็นทัศนคติส่วนตัวหรือเป็นเพราะความมีอายุสูงขึ้นที่ทำให้ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นกับวันขึ้นปีใหม่ ขณะที่ผมเริ่มต้นเขียนบทความนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 15 ชั่วโมงก็จะย่างเข้าสู่ปีใหม่ พ.ศ. 2557 แล้ว วันนี้ ผมจะเก็บปฏิทินตั้งโต๊ะที่วางไว้ตามที่ต่างๆ แล้วหาปฏิทินปีใหม่มาวางแทน ปฏิทินเป็นสิ่งของอย่างเดียวในบ้านที่ผมต้องเปลี่ยนเมื่อเปลี่ยนปีศักราช นาฬิกาไม่ว่าจะวางตั้งหรือแขวนตามผนังก็ดูยังมีพลังแบตเตอรี่เข้มแข็งดีอยู่ทุกเรือน บางเรือนเดินช้าไปบ้าง เดินเร็วไปบ้าง ปรับให้ตรงกันเสียหน่อย เข็มสั้นเข็มยาวบนหน้าปัทม์ของแต่ละเรือนก็จะหมุนเวียนขวาบอกเวลานาทีไปตามหน้าที่ของสิ่งที่เรียกกันว่า “นาฬิกา”

ผมไม่มีแผนทำกิจกรรมพิเศษอะไรส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ไม่คิดจะไปเคาต์ดาวน์นับเวลาถอยหลังที่เวทีไหน แล้วก็ไม่มีแผนจะไปนอนนับดาวบนยอดดอยใด ไม่มีแผนไปร่วมสวดมนต์ข้ามปีที่วัดใด เพราะได้คัดลอกบทสวดมนต์ที่ว่าด้วยมงคลชีวิต 38 ประการ ลงไว้ในสมุดบันทึกพกติดตัว “ช่วยใจคุณจำ 2557” เช่นทุกๆ ปีตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว ถ้าไม่ง่วงจนเกินทน ก็จะดูทีวีถ่ายทอดงานฉลองนาทีแรกๆ ของปีใหม่ตามที่ต่างๆ ในประเทศไทย แม้จะไม่ตื่นเต้นนัก แต่ผมก็ไม่อยากหลับข้ามปีโดยไม่ได้ยินเสียงพลุ เสียงเพลง และเสียงไชโยโห่ร้องต้อนรับปีใหม่ที่ดังกึกก้อง

ผมผ่านวันขึ้นปีใหม่มาหลายสิบครั้งแล้ว เคยร่วมวงกินเลี้ยง กินเหล้า ร้องเพลงสนุกสนานข้ามปี เมื่อเป็นเด็ก ครั้งหนึ่งเคยเข้าไปดูภาพยนต์ที่ฉายข้ามปี นับเวลาถอยหลังหรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่าเคาต์ดาวน์ก็เคยทำ เคยฉลองมาแล้วหลายรูปแบบจนพอจะมองออกว่าขณะเวลาที่เปลี่ยนผ่านจากปีหนึ่งไปเป็นอีกปีหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เราสมมุติขึ้นมาทั้งสิ้น เวลาย่อมเปลี่ยนไปตามหน่วยของเวลาที่มนุษย์สร้างขึ้น จากวินาทีเป็นนาที เป็นชั่วโมง ล่วงไปเป็นวัน เป็นสัปดาห์ เดือน และปี แต่ละวัน เวลาเปลี่ยนผ่านไปตามแสงอาทิตย์ที่สว่างและมืดเป็นกลางวันและกลางคืน ในแต่ละเดือน เมื่อมองฟ้าเวลากลางคืน จะมีช่วงเดือนมืดและช่วงฟ้าสว่างด้วยแสงจันทร์ ในคืนสุดท้ายของปี พ.ศ. 2556 ต่อวันแรกของปี พ.ศ. 2557 ฟ้าจะมืดสนิทเพราะเป็นคืนแรม 15 ค่ำ

วันที่หนึ่งเมษายนตั้งต้นปีใหม่....

ปีหนึ่งเท่ากับระยะเวลาที่โลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์ ในเวลาหนึ่งปีดวงจันทร์จะโคจรรอบโลก 12 รอบ แต่ละรอบใช้เวลาหนึ่งเดือน โลกหมุนรอบตัวเองแต่ละรอบใช้เวลาหนึ่งวัน โลกหมุนรอบตัวเองในขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์แต่ละรอบใช้เวลา 365 วันกับอีก 6 ชั่วโมง คำถามคือเราจะถือเอาจุดใดเป็นจุดเริ่มต้นรอบใหม่ของวงโคจรโลกรอบดวงอาทิตย์ คำตอบคือเราต้องสมมุติวันใดวันหนึ่งขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นของวงโคจรรอบใหม่หรือวันตั้งต้นปีใหม่นั่นเอง

ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน ประเทศไทยแต่ครั้งยังเป็นอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา จนเป็นสยามประเทศ เคยถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาคนไทยเปลี่ยนมาถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติศาสนาพราหมณ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำเอาการนับวันเวลาตามปฏิทินสุริยคติมาใช้ในสยาม ราชการจึงกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา

สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยจัดงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นประจำทุกปี เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว คุณพิชัย วาศนาส่ง กรรมการที่ปรึกษาของสมาคมฯ จะร้องเพลง “เถลิงศก” ให้พวกเราฟังทุกปี เพลงนี้ร้องกันในประเทศไทยเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ท่อนแรกว่า “วันที่หนึ่ง เมษายนตั้งต้นปีใหม่ แสงตะวันพร่างพรายใสสว่างแจ่มจ้า เสียงระฆังหง่างเหง่งก้องร้องทักทายมา ไตรรงค์ร่า ร่าเริงปลิวพลิ้วเล่นลม” ผมจำเนื้อเพลงและร้องตามได้ดีตรงที่เป็นสร้อยเพลง “ยิ้มเถิด ยิ้มเถิด นะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสราญบานใจ ขอให้สวัสดี” ในวันงานส่งท้ายปีเก่าของสมาคมฯเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมคิดถึงคุณพิชัย ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านต้องร้องเพลง “เถลิงศก... วันที่หนึ่งเมษายนตั้งต้นปีใหม่” ให้พวกเราฟังอย่างแน่นอน แล้วผมก็จะร่วมร้องกับท่านเมื่อถึงท่อนสร้อยเพลง “ยิ้มเถิด ยิ้มเถิด นะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสราญบานใจ ขอให้สวัสดี”

แม้วันที่ 1 เมษายน จะเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการ แต่คนไทยก็นิยมถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งตกราวกลางเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยเรื่อยมาจนทุกวันนี้

ในสมัยรัชกาลที่ 8 ทางราชการได้มีประกาศลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่  ย่อหน้าสุดท้ายของประกาศฉบับนั้นมีความว่า“จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะสงฆ์ และอาณาประชาราษฎร์ทั้งมวล นิยมถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้ปีใหม่อันเริ่มขึ้นในวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2484 นี้จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกันเทอญ” 

ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา คนไทยก็ฉลองวันที่ 1 มกราคม เป็นวันตั้งต้นปีใหม่เช่นเดียวกับนานาประเทศ งานปีใหม่ที่จัดขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ต่อวันที่ 1 มกราคม 2557 นี้นับเป็นครั้งที่ 73 แล้ว

เวลาแต่ละปีผ่านไปเร็วขึ้นหรือเปล่า

นึกถึงหลายเหตุการณ์ในอดีตที่แม้จะเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ก็เหมือนว่าเพิ่งผ่านไปเมื่อไม่นาน

เหตุการณ์ที่...จะเปลี่ยนจากปี ค.ศ. 1999 เป็นปี 2000 เมื่อ 14 ปีมาแล้ว ชาวโลกต่างตื่นเต้น กลัวว่าการเปลี่ยนสหัสวรรษครั้งนั้นจะเกิดเหตุการณ์วิกฤติขึ้น... เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 หรือเมื่อ 9 ปีมาแล้ว คลื่นยักษ์สึนามิโถมทำลายชายทะเลฝั่งตะวันตกของประเทศไทย คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน... รัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทยที่ยังส่งกระทบมหาศาลต่อการเมืองไทยจนทุกวันนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 หรือเมื่อ 8 ปีมาแล้ว... เหตุการณ์หลายอย่างเหมือนกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ เวลาช่างผ่านไปเร็วจริงๆ

ผมชอบถามตัวเองและคนอื่นๆ “รู้สึกไหมว่าเดี๋ยวนี้เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน?” คำตอบจากเกือบทุกคน รวมทั้งตัวเองคือ “เห็นด้วย ทุกวันนี้ วันเวลาผ่านไปเร็วมาก” ฝรั่งมีคำพูดว่าเวลาโบยบินไป (time flies) ผมว่าเวลาผ่านไปเร็ว เพราะโลกมีขนาดเล็กลงจึงหมุนรอบตัวเองได้เร็วขึ้น และเพราะโลกเล็กลงจึงคล่องตัวจนโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ไวแล้วโลกของเราเล็กลงด้วยสาเหตุอันใด?

ถ้าพูดในแง่ของมวลหรือปริมาณสสารที่ประกอบขึ้นเป็นโลก โลกไม่น่าจะมีขนาดเล็กลง แม้มนุษย์จะขุดเอาทรัพยากรในโลกมาใช้อย่างมากมาย แต่โลกก็คงไม่ยุบหรือหดตัวเล็กลงมากนัก ผมอยากจะเชื่อว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและคมนาคมต่างหากเป็นตัวสำคัญที่ทำให้โลกทุกวันนี้เล็กลง

นึกถึงเมื่อ 50 กว่าปีก่อน เมื่อผมจากบ้านเกิดที่บ้านท่าสะอ้าน บางปะกงเข้ามาอยู่กับคุณป้า แถวประตูน้ำ กรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 3 ชั่วโมง บ้านนอกยังไม่มีโทรศัพท์ใช้กันแพร่หลาย ผมยังต้องเขียนจดหมายติดต่อกับเพื่อนตอนหยุดเทอม นึกไม่ถึงเลยว่า เดี๋ยวนี้ เดินทางจากจุดเดิมในกรุงเทพฯสู่บ้านเกิดใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง โทรศัพท์มือถือใช้ติดต่อระหว่างบุคคลได้ทั่วทุกหัวระแหงทั้งในประเทศไทยและระหว่างประเทศ จะพูดกับใครที่ไหนก็ได้เหมือนมีโทรจิตถึงกัน อยู่ห่างไกลกันข้ามขอบฟ้าแต่คุยกันได้โดยเห็นหน้าเห็นตัวกัน เดี๋ยวนี้ ใครไปเที่ยวไหน พบเห็นอะไร กินอะไร ก็ถ่ายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวส่งทางอินเทอร์เน็ตให้คนอื่นได้รับรู้รับเห็นโดยทันที การติดต่อระหว่างคนที่อยู่ห่างกันตามสภาพภูมิศาสตร์สามารถทำได้โดยเกือบไม่ต้องเสียเวลารอคอย

ลองนึกภาพเมื่อร้อยกว่าปีก่อน การเดินทางจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ต้องใช้เวลาแรมเดือน จากประเทศไทยไปยุโรปหรืออเมริกาก็ใช้เวลาเดินทางนับเดือนเหมือนกัน คนสมัยนั้นติดต่อกันด้วยการเขียนจดหมายส่งสารถึงกันเท่านั้น กว่าจดหมายจะไปถึงมือผู้รับ กว่าผู้รับจะเขียนตอบแล้วส่งกลับให้รู้เรื่องกันแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นใช้เวลายาวนานมาก ลองเปรียบเทียบกับเวลาที่ใช้ในการเดินทางและติดต่อสื่อสารในสมัยนี้ เราทุกคนก็คงจะเห็นเหมือนกันว่ามันคนละเรื่องกันจริงๆ

เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์เป็นข่าวเกิดขึ้นที่ส่วนใดของโลก ข่าวนั้นก็จะเผยแพร่ให้รับรู้กันทั่วโลกโดยทันที เหมือนกับโลกนี้มีพื้นที่แคบๆ ที่คนในโลกมองเห็นกันได้หมด เกือบไม่มีส่วนไหนของโลกอีกแล้วที่ไกลเกินกว่าคนอื่นๆ จะมองไม่เห็น โลกเราทุกวันนี้เล็กลงแล้วจริงๆ

ผมเหลือเวลาอีกไม่ถึงหมื่นวัน

เมื่อโลกเล็กลง การติดต่อสื่อสารคมนาคมทั้งหลายก็ใช้เวลาสั้นลง เวลาจึงผ่านไปเร็ว เดี๋ยววัน เดี๋ยวเดือน เผลอประเดี๋ยวเดียวก็หมดไปอีกหนึ่งปีแล้ว สำหรับผมที่มีอายุปูนนี้ ชีวิตที่เหลืออยู่คงอีกไม่นานนัก ถ้าผมจะมีเวลาที่จะหายใจเหลืออยู่อีกราว 20 ปี จะคิดเป็นวันก็อีกประมาณ 7,300 วันเท่านั้น (คิดเป็นชั่วโมง ชีวิตผมเหลืออยู่อีกประมาณ 175,200 ชั่วโมง!) เจ็ดพันวันนี้ไม่นานเลย ผมจะได้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นอีกเพียงเจ็ดพันครั้ง

เมื่อวันเวลาชีวิตเหลืออยู่ไม่ถึงหมื่นวันเช่นนี้แล้ว ต่อไปนี้ รุ่งอรุณแต่ละครั้งควรจะต้องมีความหมาย เราต้องตื่นขึ้นมาแต่ละวันอย่างมีศักดิ์ศรี มีใจมุ่งมั่น ไม่่ใช่สักแต่ลืมตาตื่นเพราะตะวันส่อง เราต้องสร้างแต่ละวันๆ ให้มีคุณค่า งดงาม สว่างสดใส จนกระทั่งอาทิตย์อัสดงสุดท้าย

เมื่อตระหนัักชัดว่าชีวิตของเราเหลือสั้นลงทุกที ในขณะที่เวลาก็ผ่านไปเร็วขึ้น ถ้าขืนเราปล่อยให้ชีวิตเคลื่อนเร็วไปตามเวลา เผลออีกไม่นานเราก็จะจากโลกนี้ไป จะมีทางหรือไม่อย่างไรที่จะทำให้วันเวลาช้าลงบ้าง ชีวิตของผู้สูงอายุอย่างเราไม่ควรจะเร่งรีบ ผ่อนคลายลงเสียบ้าง ไม่ปล่อยให้เวลานาทีมาบีบคั้นชีวิตของเรา พยายามอย่าให้มีเส้นตายที่สมมุติขึ้นสารพัดมากำหนดชีวิต เพราะเส้นตายจริงๆ ของเราก็เห็นอยู่ไม่ไกลข้างหน้าแล้ว

ผมชอบภาพอาทิตย์อัสดง ดวงกลมสีส้มแดงที่ค่อยๆเคลื่อนคล้อยต่ำจมลับไปจากขอบฟ้ามีความหมายสำหรับผมทุกครั้งที่ได้เห็น พรุ่งนี้ วันที่ 1 มกราคม ดวงอาทิตย์แรกของปี 2557 จะขึ้นทางทิศตะวันออก และเคลื่อนไปลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเหมือนเดิม...และจะเหมือนเดิมต่อไปอีกเจ็ดพันวัน......

Since 25 December 2012