รางวัลอีกโนเบล

ดนตรีบำบัด

วรชัย ทองไทย
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ดนตรีบำบัด (music therapy) คือ การใช้ดนตรีในทางการแพทย์ เพื่อช่วยรักษาและฟื้นฟูสุขภาพโดยรวมของคนไข้ โดยรวมถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจ ได้แก่ ช่วยส่งเสริมการแสดงออกของอารมณ์ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยบรรเทาอาการป่วยไข้ ช่วยส่งเสริมการสื่อสาร และช่วยส่งเสริมสุขภาพอนามัยโดยรวม

ดนตรีบำบัดเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาตามปกติ จะช่วยให้คนป่วยลดอาการไข้ ช่วยให้แผลหายเร็ว ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ลดความเจ็บปวด ลดการคลื่นเหียน วิงเวียน และอาเจียร ลดความเครียด ลดความหดหู่และโศกเศร้า รวมทั้งช่วยให้หลับง่าย

ผลการวิจัยทดลองพบว่า ดนตรีบำบัดช่วยให้การเต้นของหัวใจลดลง ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยลดอัตราการหายใจ ช่วยลดการนอนไม่หลับ ช่วยลดความเศร้าและหดหู่ และลดความวิตกกังวล

การรักษาด้วยดนตรีบำบัดไม่มีกรรมวิธีที่แน่นอน แต่จะเป็นไปตามความต้องการ และรสนิยมของคนไข้แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม อันประกอบด้วย การเล่นดนตรี การฟังดนตรี การแต่งเนื้อร้องและทำนอง การอภิปรายเนื้อเพลง การสร้างจินตนาการและการเรียนรู้ด้วยดนตรี

ส่วนสถานที่ก็เป็นไปตามความสะดวก ได้แก่ โรงพยาบาล สถานพยาบาล บ้านพักสุดท้าย โรงเรียน บ้าน หรือสถานที่เหมาะสมอื่นๆ ที่ช่วยให้คนไข้ผ่อนคลาย โดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถในการเล่นหรือฟังดนตรีแต่อย่างไร

การใช้ดนตรีในการบำบัดรักษา ได้มีมาหลายพันปีแล้ว โดยนักปราชญ์ชาวกรีกเชื่อว่า ดนตรีสามารถรักษาได้ทั้งร่างกายและวิญญาณ ส่วนชาวอินเดียนแดงใช้การร้องเพลงและการสวดควบคู่ไปกับการรักษา

สำหรับการเริ่มรักษาด้วยดนตรีบำบัดอย่างเป็นทางการนั้น เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อโรงพยาบาลทหารผ่านศึกในสหรัฐอเมริกา ใช้ดนตรีช่วยในการรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากระเบิด ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน ก็ได้สร้างหลักสูตรดนตรีบำบัดขึ้น เป็นแห่งแรกในโลก

 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดนตรีบำบัดมีความเจริญก้าวหน้า เนื่องจากได้นำผลการวิจัยเกี่ยวกับดนตรี มาประยุกต์ใช้ในการรักษา โดยการศึกษาถึงผลกระทบของดนตรีต่อร่างกายและจิตใจพบว่า ดนตรีมีผลกระทบต่อคลื่นสมอง การหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจ สติอารมณ์ และอื่นๆ

การวิจัยถึงผลกระทบของดนตรีต่อคลื่นสมองพบว่า จังหวะที่หนักหน่วงของดนตรี สามารถกระตุ้นการเคลื่อนไหวของคลื่นสมอง ให้สอดคล้องกับจังหวะดนตรีได้ โดยดนตรีที่มีจังหวะเร็ว จะทำให้สมองตื่นตัว อันส่งผลให้เกิดความคิดเฉียบแหลม ในทางตรงกันข้ามดนตรีที่มีจังหวะช้า จะโน้มน้าวให้เกิดความสงบเยือกเย็น อันนำไปสู่ภาวะจิตสงบ โดยผลกระทบนี้จะมีผลต่อเนื่องในระยะยาวด้วย เพราะหลังจากที่คลื่นสมองได้ถูกกระตุ้นจากดนตรีแล้ว คลื่นสมองก็สามารถปรับความเร็วได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ดนตรีมากระตุ้นก่อน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากดนตรีนี้ จะมีผลต่อเนื่องไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่ควบคุมด้วยระบบประสาทอัตโนมัติ อันได้แก่ การหายใจและการเต้นของหัวใจ กล่าวคือ ดนตรีมีผลทำให้จังหวะหายใจช้าลง และอัตราการเต้นของหัวใจลดลง อันส่งผลให้ความเครียดลดลง เพราะเหตุนี้ ดนตรีจึงช่วยต่อต้านและป้องกันผลร้ายของความเครียดเรื้อรัง ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้เกิดความผ่อนคลายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยทั่วไปด้วย

ในแง่ของสติอารมณ์ การฟังหรือเล่นดนตรีจะช่วยให้สติอารมณ์ดีขึ้น ช่วยลดความกังวลและความเครียดลง อันเป็นการป้องกันไม่ให้สุขภาพเสื่อมโทรม ยิ่งกว่านั้น ดนตรียังช่วยยกระดับความคิดสร้างสรรค์ และการมองโลกในแง่ดีให้สูงขึ้น อันมีผลให้สุขภาพอนามัยแข็งแรงสมบูรณ์

สำหรับคุณประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ ช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเส้นโลหิตในสมองแตก (stroke) ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยบรรเทาความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

รางวัลอีกโนเบล สาขาแพทยศาสตร์ ในปีที่ผ่านมา ได้มอบให้กับนักวิจัยญี่ปุ่น 6 คน (Masateru Uchiyama, Qi Zhang, Toshihito Hirai, Atsushi Amano, Hisashi Bashuda และ Masanori Niimi) กับนักวิจัยจีน 1 คน (Xiangyuan Jin) ที่ได้วิจัยทดลองถึงผลกระทบของการฟังเพลงอุปรากร (opera music) ของคนไข้ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นหนู

รางวัลอีกโนเบล:   รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ทำให้ “ขำ” ก่อน “คิด”

 

Since 25 December 2012