ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ

ฉันไม่ได้แก่ ฉันแค่...อายุเยอะ

มนสิการ กาญจนะจิตรา
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

“แก่” เป็นคำที่หลายคนได้ยินถึงกับต้องสะดุ้ง พร้อมกับหันไปมองค้อนใครก็ตามที่ช่างได้พูดคำนั้นออกมา

เพราะอะไร คำว่า “แก่” จึงกลายเป็นคำที่สร้างความรู้สึกลบให้กับผู้คนมากมายนัก หลายคนเมื่อได้ยินคำนี้ ก็มักจะพาลนึกไปถึง ความร่วงโรยของสังขาร ความอ่อนแรง และความเชื่องช้า ซึ่งมักจะนำให้จินตนาการต่อไปว่า คนที่ “แก่” เช่นนี้ คงต้องนอนระทมทุกข์อยู่บ้านเป็นแน่แท้ และคงจะต้องเป็นภาระให้ครอบครัวและสังคมเลี้ยงดูต่อไป

ความคิดที่ว่า คนแก่เป็นภาระ ที่สังคมต้องคอยโอบอุ้ม เป็นวยาคติ (อคติต่ออายุ) ที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวมานาน หลายประเทศเล็งเห็นว่าประชากรสูงอายุนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกที นับตั้งแต่ เอฟ.จี. ดิกเคนสัน นักวิชาการท่านหนึ่ง ที่เคยกล่าวไว้ในปี 1951 ว่าสังคมจะเกิดสงครามชนชั้นขึ้น ระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า โดยคนรุ่นใหม่ จะเริ่มอดรนทนไม่ไหว กับการที่ต้องโดนเก็บภาษีจากรายได้ที่เป็นน้ำพักน้ำแรงตนเองในอัตราที่สูง เพื่อที่จะใช้ค้ำจุนดูแลคนสูงวัยเหล่านี้

ในปัจจุบัน วยาคตินี้ถูกสะท้อนให้เห็นในหลายส่วนของสังคม แม้แต่ในวงวิชาการอย่างนักประชากรศาสตร์เอง ที่มักใช้อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาของสังคมผู้สูงอายุ ว่าในสังคมมีอัตราส่วนของประชากรในกลุ่มอายุนอกวัยแรงงาน (ประชากรเด็ก และประชากรสูงอายุ) ต่อประชากรในวัยแรงงานเป็นเท่าไร โดยมีสมมติฐานว่า กลุ่มอายุนอกวัยแรงงานนั้น ต้องการการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ นั่นคือ เป็นกลุ่มที่เป็นภาระให้กับคนในวัยทำงานที่จะต้องโอบอุ้มนั่นเอง

แต่ในความเป็นจริง คนแก่ หรือ ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายไม่ต่างไปกับคนในวัยอื่นเลย ในสังคมเรา มีทั้งคนแก่ที่ยังกระฉับกระเฉง ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไม่มีปัญหา และที่สำคัญยังเป็นกำลังให้กับประเทศชาติจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว เพียงแต่คำว่า “แก่” มาพร้อมทัศนคติเหมารวมที่ติดลบ ทำให้สังคมมองกลุ่มคนกลุ่มนี้เหมือนๆ กันไปหมด ทำให้เรานึกถึงแต่ภาพกลุ่มคน ที่กำลังรอให้เรายื่นสองมือเข้าไปช่วยโอบอุ้มดูแล

การชี้แนะให้สังคมเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญอย่างมาก และถือเป็นสาระสำคัญของการประชุมสมัชชาโลกครั้งที่สองในเรื่องผู้สูงอายุที่จัดขึ้นเมื่อปี 2002 ณ กรุงแมดริด ประเทศสเปน ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นมีตัวแทนจาก 159 ประเทศเข้าร่วม (รวมถึงประเทศไทยด้วย) โดยเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อผู้สูงอายุ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ

หากสังคมมองผู้สูงอายุเป็น “คนแก่” ที่รอคอยความช่วยเหลือ โอบอุ้มจากสังคม นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุก็จะสะท้อนทัศนคติเช่นนั้น คือ จะมุ่งเน้นแต่ในเรื่องการให้สวัสดิการเพื่อช่วยเหลือเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การให้เบี้ยยังชีพ หรือการจัดสร้างบ้านพักคนชรา ซึ่งนโยบายที่เน้นการช่วยเหลือและโอบอุ้มกลุ่มผู้สูงอายุ จะเป็นสิ่งตอกย้ำให้สังคมมองผู้สูงอายุเป็น “ภาระ” ของสังคม จึงยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ทัศนคติต่อผู้สูงอายุติดลบมากขึ้นไปอีก และอาจนำไปสู่การขัดแย้งระหว่างกลุ่มวัยอย่างที่ เอฟ.จี. ดิกเคนสัน ทำนายไว้ก็เป็นได้

ดังนั้น หากสังคมเปลี่ยนมุมมอง จากการมองผู้สูงอายุเป็นคนแก่ ที่เป็นภาระให้กับสังคมและเศรษฐกิจของชาติบ้านเมือง เป็นมองผู้สูงอายุว่าเป็นส่วนสำคัญของสังคม ที่มีบทบาทและส่วนร่วมในสังคมได้ แนวทางการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ คงจะสามารถก้าวข้ามความคิดที่วนเวียนอยู่แต่การให้สวัสดิการเพียงเท่านั้นได้

ผลที่ได้จากการประชุมสมัชชาโลกในครั้งนั้น คือ แผนปฏิบัติการในเรื่องผู้สูงอายุ ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีทิศทางนโยบายที่สำคัญ 3 ด้าน คือ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการมีสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่มวัย ซึ่งนานาประเทศที่เข้าร่วมต่างมีพันธสัญญาที่จะดำเนินงานตามมติสมัชชานี้

อย่างไรก็ตาม การที่แผนปฏิบัติการนี้จะสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้นั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมต่อผู้สูงอายุ ซึ่งการเปลี่ยนทัศนคติของสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถเริ่มต้นได้จากสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันก่อน เช่น การเลือกคำพูด อย่างในภาษาอังกฤษ จากแต่ก่อนที่ใช้คำว่า “senior citizen” หรือ “elderly” ก็ได้มีการรณรงค์ให้ใช้คำว่า “older person” แทน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า คนเหล่านี้ไม่ได้แก่ ไม่ได้ชราภาพ เพียงแต่มีอายุมากกว่า ก็เท่านั้นเอง

สำหรับประเทศไทย การปรับเปลี่ยนทัศนคติถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ คำว่า “แก่” ยังคงมาพร้อมวยาคติที่ซ่อนความรู้สึกลบอยู่มาก ดังนั้น หากเราเริ่มต้นด้วยการเลี่ยงใช้คำนี้ นอกจากจะช่วยให้ไม่ไปสะเทือนใจใครหลายคนแล้ว ยังอาจเป็นการช่วยปรับทัศนคติของทั้งตัวเราเองและสังคม เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศ ให้ผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริงต่อไปในอนาคต     

Since 25 December 2012