สูงวัยกับไฮเทค

กุศล สุนทรธาดา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยและสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุของหลายประเทศบนโลกใบนี้มีมากจนเป็นสังคมผู้สูงอายุไปแล้ว เช่น ประเทศในแถบยุโรป สแกนดิเนเวียและญี่ปุ่น (ประเทศไทยก็ไม่เว้น) เมื่อมองภาพอนาคตไปอีก 10-15 ปี “โลกของผู้สูงอายุ” ไม่ใช่โลกใบเล็ก แต่กำลังใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ลูกหลานต้องดิ้นรนแข่งขันและอพยพย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ทำให้สายสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับลูกหลานและครอบครัวน้อยลง ยิ่งอายุมากขึ้นการไปมาหาสู่ญาติสนิท มิตรสหาย หรือ เพื่อนเก่าสมัยเรียนก็มีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง จนเกรงว่าสังคมผู้สูงอายุจะขาดความสุขทางใจและสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

 แต่ษสิ่งที่กำลังจะขาดหายไปกำลังจะถูกเติมเต็มด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ไร้ขีดจำกัด ที่ช่วยให้คนสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์ก กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน อีเมล์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แอพพลิเคชันต่างๆ เช่น ไลน์ บีบี วอทส์แอพ ถูกนำมาใช้ในการติดต่อสื่อสาร ส่งไฟล์เอกสาร แชร์ไฟล์ภาพให้กันแทนการส่งจดหมายทางไปรษณีย์ (บริการส่งจดหมายทางไปรษณีย์คงจะเลิกไปในที่สุด แบบเดียวกับโทรเลข) โซเชียลเน็ตเวิร์กกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาและติดต่อสื่อสารระหว่างเพื่อนเก่า สมาชิกในครอบครัว เพื่อนที่อยู่คนละมุมโลก และอีกหลายชีวิต ได้กลับมาพบกันอีกครั้งบนโลกออนไลน์ ได้พูดคุยสนทนากันสดๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นที่พัฒนามาอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นการย่อโลกทั้งใบให้แคบลงเพียงปลายนิ้วสัมผัส บอกได้เลยว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้ทำให้คนทุกเพศทุกวัยสัมผัสถึงความอิ่มเอมใจ ทุกครั้งที่ได้พบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่แสนประทับใจ เป็นการชุบชีวิตให้มีชีวาอีกครั้ง (ไม่เชื่อลองถามคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้) แต่มีข้อแม้ว่า ผู้สูงอายุต้องสนใจที่จะเรียนรู้และทำให้เป็น ส่วนสนนราคาก็มีตั้งแต่ถูกจนถึงแพง และก็น่าจะถูกลงเรื่อยๆ เพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่หยุดยั้ง ของเก่าตกรุ่น ราคาก็ถูกลงแล้ว

แม้ว่าษเทคโนโลยีจะเติมเต็มอย่างไร โลกใบนี้ก็ยังมีช่องว่าง ดังจะเห็นได้จากความสุขเหล่านี้ ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ผู้ใช้งานที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น วัยเรียน วัยเด็ก และวัยทำงานเท่านั้น โอกาสที่จะขยายผลไปถึงผู้สูงอายุ ดูยังจะมีขีดจำกัดด้วยวัยและประสบการณ์ที่พบเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ น้อยกว่าคนรุ่นเยาว์ (บางทีก็กลัวเทคโนโลยีเสียด้วยซ้ำ!) ข้อมูลจากการสำรวจครอบครัวเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2555) พบว่า ในปี 2555 ประชากรที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุด คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี (ใช้ร้อยละ 55) รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอายุ 6-14 ปี (ใช้ร้อยละ 47), กลุ่มอายุ 25-34 ปี (ใช้ร้อยละ 30) และ กลุ่มอายุ 35-49 ปี (ใช้ร้อยละ 17) ส่วนผู้สูงอายุมีการใช้อินเทอร์เน็ต ประมาณร้อยละ 2 โดยกรุงเทพมหานครและในเขตเทศบาล มีการใช้มากที่สุด ส่วนใหญ่ใช้เพื่อค้นหาข้อมูล รองลงมา คือ ติดตามข่าวสาร และรับ-ส่งอีเมล์

คำถามก็คือว่า ทำอย่างไรให้เทคโนโลยีดังกล่าว เข้าถึงโลกของผู้สูงอายุได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มาเติมเต็มวิถีชีวิตที่ขาดหายไป และเสริมสร้างความสุขทางใจษเรื่องนี้ดูจะไม่ยาก บ้านไหนมีคอมพิวเตอร์อยู่แล้วก็ขอให้ลูกหลานสอนให้ ถ้าลูกหลานไม่มีเวลาก็ไปหาสถานที่เรียนที่เปิดสอนผู้สูงวัยโดยเฉพาะ (มีวิธีการสอนที่เข้าใจข้อจำกัดในการเรียนรู้ของผู้สูงวัย) ในกรุงเทพฯ สถานที่เรียนหาไม่ยาก แต่ต่างจังหวัดนั้นไม่แน่ใจ หรือใครที่มีประสบการณ์แล้วจะตั้งเป็นชมรม/กลุ่มอาสาสมัครสอนให้เพื่อนฝูง/ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน/ชุมชน ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่กัน และเป็นการถ่ายทอดความรู้สู่สังคม อย่าลืมว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านแล้วเหงา ไม่มีกิจกรรมทำ และบางครั้งอยากจะหาข้อมูลบางอย่างก็ลำบาก ต้องอาศัยลูกหลานช่วยเปิดคอมพิวเตอร์หาข้อมูลให้ ถ้าทำเป็นแล้วก็จะหมดปัญหานี้ไป สามารถพึ่งตัวเองได้ (อาจช่วยลดปัญหาสมองเสื่อมได้ด้วย) นอกจากนี้ ถ้าไปเที่ยวที่ไหนมาก็อัพโหลดรูปภาพแห่งความประทับใจขึ้นเฟซบุ๊ก แชร์ให้ลูกหลานหรือเพื่อนฝูงดูได้อีกด้วย ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกันและมีความสุขมากขึ้น

ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสังคมสูงอายุยังมีอีกหลายด้าน นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ เรายังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา เทคโนโลยีจะช่วยให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงวัย เพราะความรู้เรียนได้ไม่มีสิ้นสุด เพื่อการประกอบอาชีพ เทคโนโลยีจะช่วยในการเพิ่มผลิตภาพการทำงานของผู้สูงอายุ และการดำรงชีวิต เทคโนโลยีช่วยให้มีการพัฒนาวิทยาการทางการแพทย์และการดูแลผู้สูงวัย สำหรับเทคโนโลยี ที่ใช้ในทางการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุ ในประเทศพัฒนามีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในทางการแพทย์และเริ่มนำมาใช้จริงในหลายประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว ได้แก่ เครื่องตรวจสอบการลื่นล้มของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่ใช้ตรวจจับแรงกระแทกขณะลื่นล้ม โดยอุปกรณ์นี้จะส่งสัญญาณผ่านมือถือไปยังลูกหลาน ญาติที่อยู่ใกล้ หรือโรงพยาบาล สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทัน และลดความเสี่ยงต่อความพิการหรือการเสียชีวิตลงได้ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ที่สามารถส่งข้อมูลไปยังเซิฟเวอร์ของโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามผลการรักษา และวินิจฉัยโรคทางไกลได้โดยที่คนไข้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ และพัฒนาตัวเครื่องให้มีขนาดเล็กลง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดความดันโลหิต เพื่อเตรียมพร้อมในการใช้งานในรูปแบบของ “ระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทางไกล” ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต

ในการดูแลผู้สูงอายุ มีการพัฒนาหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ (บริษัทเอกชนของไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐกำลังพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าว) เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุในภาวะที่ขาดแคลนผู้ดูแลหรือนางพยาบาล โดยหุ่นยนต์นี้มีแขนกลที่ออกแบบให้เลียนแบบกล้ามเนื้อแขนของมนุษย์ สามารถเคลื่อนที่ พับงอ หมุนได้ สามารถทำการเสิร์ฟอาหาร หยิบสิ่งของ โบกมือ และโทรศัพท์ถึงผู้ที่ต้องการติดต่อได้ พร้อมทั้งสามารถบันทึกรายชื่อผู้ที่ต้องการติดต่อไว้ในระบบฐานข้อมูลของหุ่นยนต์ มีการติดตั้งระบบเรียกให้แพทย์หรือลูกหลานติดต่อกลับมาหาผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็ว โดยทำงานเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ลูกหลานสามารถดูแล และเห็นสภาพความเป็นไปของผู้สูงอายุจากที่ต่างๆ ได้ตลอดเวลา (Real time monitoring) ที่สำคัญ หุ่นยนต์สามารถทำงานโดยไม่มีวันหยุด และ สามารถแบ่งเบาภาระการดูแลได้ตลอด 24 ชั่วโมง (แต่สิ่งที่หุ่นยนต์ยังขาดก็คือ การให้บริการที่ใช้หัวใจในการสื่อสาร เช่น การให้กำลังใจ ปลอบใจเมื่อเกิดความเศร้า) ในอนาคตจะติดตั้งอุปกรณ์เช็คสัญญาณชีพ (Vital signs) ส่งข้อมูลตรงไปยังแพทย์ผู้มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุรายนั้นๆ โดยตรงเสมือนเป็นผู้ช่วยแพทย์ประจำบ้านช่วยให้แพทย์สามารถเก็บข้อมูลผู้สูงอายุได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปที่โรงพยาบาล รวมทั้งสามารถวัดไข้ ตรวจลมหายใจ เฝ้าดูการหลับ ตรวจจุดกดทับ และวัดคลื่นหัวใจ กรณีที่คนไข้มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติก็จะมีสัญญาณเตือนทันที

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นรีโมตเปิด-ปิดไฟฟ้า ที่สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยผ่านอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบของเสียงสัญญาณไซเรนและไฟแฟลช แจ้งเหตุฉุกเฉินให้บุคคลในครอบครัว ผู้ดูแล หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ทราบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน เพื่อตรวจดูความเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ หากเกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม ก็สามารถให้การช่วยเหลือได้ทันเวลา

ถึงแม้การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ เป็นภารกิจของนักเทคโนโลยีในการช่วยให้สมาชิกครอบครัว ผู้สูงอายุ และผู้ดูแลได้มีเทคโนโลยีใช้กัน ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องเปลี่ยนทัศนคติ (อย่าคิดว่าผู้สูงอายุเรียนรู้ไม่ได้ แค่ช้าหน่อยเอง!) และช่วยกันผลักดันให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อให้การดำรงชีวิตของผู้สูงอายุมีความสุข สะดวก สบายมากขึ้น เกิดการพัฒนาตนเอง เป็นการสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ช่วยสร้างพลังเครือข่ายผู้สูงอายุให้เข้มแข็งทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Since 25 December 2012