ประชากรต่างแดน
การพัฒนาบทบาทหญิงชายผ่านกระบวนการเรียนการสอนสู่การวิจัยในระดับอุดมศึกษาสำหรับประชาคมอาเซียน
อมรา สุนทรธาดา
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เราจะเตรียมตัวอย่างไรกับการรวมตัวของประชาคมอาเซียนที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสามเสาหลัก? บทความนี้ประสงค์จะแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้อ่านจากสาระการประชุมนานาชาติ เรื่อง Korea-ASEAN on Gender and Development ณ ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 26-28 มิถุนายน ที่ผ่านมา การประชุมดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย 15 แห่ง ใน 9 ประเทศ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในประชาคมอาเซียนที่มีการเรียนการสอนและการวิจัยเกี่ยวข้องกับบทบาทหญิงชายเพื่อการพัฒนา จุดเริ่มต้นการประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากโครงการ Curriculum development on gender development in ASEAN universities ตามนโยบาย Korea-ASEAN Cooperation project ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ การดำเนินการช่วงแรกเป็นการรวมตัวของนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยแห่งชาติกัมพูชา มหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม, Women Research Institute ประเทศอินโดนีเซีย Universiti Sains Malaysia ประเทศมาเลเซีย, NGO Gender Group ประเทศพม่า, วิทยาลัยมิเรียม ประเทศฟิลิปปินส์, Institute for Gender and Development ประเทศเวียดนาม, ASEAN Committee on Women ประเทศลาว และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย และสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน ได้แก่ มหาวิทยาลัย Kelaniya ประเทศศรีลังกา มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ และ Korean Women’s Development Institute ประเทศเกาหลีใต้
การประชุมฯ ดังกล่าวเน้นการสังเคราะห์สาระการเรียนการสอนและการวิจัยที่มีวัตถุประสงค์ที่หลากหลายของแต่ละสถาบันการศึกษา เช่น อินโดนีเซียเน้นทฤษฎีการสื่อสารด้านการศึกษาและศาสนาเป็นหลัก เวียดนามเน้นทฤษฏีรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ สำหรับไทยและมาเลเซีย เน้นทฤษฎีสังคมศาสตร์ จิตวิทยา เวชศาสตร์ชุมชน เป็นต้น
ก้าวสำคัญของการประชุมฯ คือการทำความเข้าใจ ศาสตร์ต่างๆ ที่แต่ละสถาบันการศึกษา และส่วนราชการระดับกระทรวง และภาคเอกชนให้ความสำคัญ เชิงนโยบายและวัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตหรือการเสนอผลการวิจัย ที่เข้าถึงแนวคิดหลักว่าด้วยบทบาทหญิงชายเพื่อการพัฒนาที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยการเชื่อมโยงบทบาทหญิงชายและความคาดหวังจากสังคม การเข้าสู่ตลาดแรงงาน โอกาสทางการศึกษา การมีส่วนร่วมทางการเมือง และสิทธิต่างๆในการดำเนินชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาระดับประเทศและประชาคมอาเซียนโดยภาพรวม
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องตีโจทย์ให้แตกคือจะขับเคลื่อนอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในทางปฏิบัติ เพราะแต่ละประเทศมีข้อจำกัดและการมองปัญหาที่ต่างกัน เช่น ประเทศพม่า ยังมีข้อจำกัดมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสมาชิกอาเซียน เพราะความไม่มั่นคงทางการเมืองมีผลต่อการกำหนดนโยบายภาครัฐ วิถีชีวิตของประชาชนวนเวียนอยู่กับการที่จะทำอย่างไรให้อยู่รอด การขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีหลักประกันไม่ว่าหญิงหรือชายจึงเป็นทางออกประการเดียวที่ต้องเลือก ปัญหาของประเทศบรูไนดารุสซาลาม กลับสวนทางกัน กล่าวคือ จะทำอย่างไรให้สังคมเปลี่ยนมุมมองสิทธิและหน้าที่ของสตรีจากบทบาทในครัวเรือนสู่บทบาทเชิงเศรษฐกิจและตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ระดับสูง ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ขยับตัวช้ากว่าประเทศอื่นคือจำนวนประชากรประมาณ 401,890 คน (สำรวจปี 2554) ร้อยละ 65 มีสัญชาติบรูไน ที่เหลือเป็นต่างชาติ รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเพราะปัจจัยเชิงเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนุน มีแรงงานต่างชาติระดับวิชาชีพ แรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือยึดตลาดแรงงานอย่างถาวร หรือพูดง่ายๆ คือมีคนช่วยทำงานแทน ประชากรวัยแรงงานหญิงเพียงร้อยละ 60 อยู่ในตลาดแรงงาน
ถ้าหากพิจารณานโยบายการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของบทบาทหญิงชายเพื่อการพัฒนาว่าด้วยความเสมอภาคด้านการศึกษา การเข้าถึงบริการสาธารณสุข การมีงานทำ และสิทธิในการดำเนินชีวิต ประเทศในประชาคมอาเซียนมีครบทั้งหมด ต่างกันแต่เพียงกลไกในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามเป้าหมายของนโยบาย เช่น ประเทศไทยกำหนดนโยบายการศึกษาโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นชายหรือหญิง การกำหนดแรงงานขั้นต่ำ การมีสิทธิหน้าที่ทางการเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังพบช่องว่างในทางปฏิบัติ เช่น ความแตกต่างในการจ้างงานโดยใช้เกณฑ์แรงงานขั้นต่ำ แรงงานหญิงมักถูกเลือกปฏิบัติโดยกฎเกณฑ์ของความชำนาญต่อลักษณะงาน ซึ่งมีผลต่อการจ่ายค่าแรง ในที่สุดแล้วแรงงานสตรีจะถูกผลักเข้าสู่ตลาดแรงงานนอกระบบ หรือการประกอบธุรกิจขนาดเล็กของตนเอง เช่นเดียวกับแรงงานสตรีในกัมพูชา ร้อยละ 70 อยู่ในตลาดแรงงานนอกระบบ กรณีของมาเลเซียพบว่าสตรีมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำ นโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมศักยภาพสตรี ยังต่ำกว่ามาตรฐานของ Global Gender Gap Index
บทสรุปจากการประชุมฯดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ดัชนีวัดการพัฒนาบทบาทหญิงชายตามมาตรฐานสากล Global Gender Gap Index เป็นตัวชี้วัดระดับการพัฒนาศักยภาพสตรี เช่น โอกาสด้านการศึกษา บทบาทเชิงเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิต สุขภาพอนามัย ความตื่นตัวด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพื่อการวิเคราะห์กลไกหรือปัจจัยหนุนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งหญิงและชายของประชาคมอาเซียนจะเป็นก้าวที่สำคัญต่อไปเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางบวก