ประเด็นทางประชากรและสังคม

ยายสอนแม่...แม่สอนลูก...ลูกรู้เรื่องเพศอย่างไร..ถึงจะพ้นภัย?

กมลชนก ขำสุวรรณ

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วนที่สังคมไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากอายุเฉลี่ยของวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมีแนวโน้มลดลง จาก 13.25 ปี ในปี 2550 เป็น 12.25 ปี ในปี 2554 (กรมควบคุมโรค, 2550-54) ขณะที่อัตราการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 55.0 ในปี 2548 เป็น 56.1 ต่อแม่วัยรุ่น 1,000 คน ในปี 2553 (กรมอนามัย, 2548- 53)  ทำให้อัตราการคลอดลูกของแม่วัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นจากวันละ 240 คนในปี 2553 เป็นวันละ 370 คน ในปี 2554 (กรมอนามัย, 2553-54) สถานการณ์ดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแม่วัยรุ่นและบุตร ตลอดจนเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องดูแลแก้ไขปัญหา หน่วยงานหลายภาคส่วน ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง โดยนำเสนอองค์ความรู้และนวัตกรรมในปัญหาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปของหนังสือ รายงานการวิจัย คู่มือ โครงการอบรม กิจกรรม หลักสูตรการเรียนการสอนทั้งในและนอกโรงเรียน รวมทั้งสื่อต่างๆ มากมาย แต่แนวโน้มปัญหาท้องไม่พร้อม และการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นกลับไม่ได้ลดลง

จากประสบการณ์ในพื้นที่ และสิ่งที่พบเห็นเชิงประจักษ์ในการวิจัยของผู้เขียน พบว่า การสื่อสารเรื่องเพศในสังคมไทย มีมุมมองและวิธีคิดเรื่องเพศที่แตกต่างกัน ตามกลุ่มอายุของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของรุ่นอายุ และยุคสมัยที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยที่ยังคงมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีสมาชิกหลายช่วงอายุอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างน้อย 3 รุ่น ได้แก่ ปู่ย่า-ตายาย, พ่อ-แม่ และลูก-หลาน จึงเป็นผลให้คนในแต่ละรุ่นอายุมองปัญหาเรื่องเพศ ด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน โดยผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยายหรือแม่ ที่ยึดมั่นอยู่ในกรอบของความสัมพันธ์หญิงชายแบบวัฒนธรรมดั้งเดิม และยึดถือจารีตประเพณีเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกัน มีหน้าที่เป็นผู้สอนลูกสาวและลูกชาย โดยสอนตามพื้นฐานแนวคิดและประสบการณ์เดิม ที่มีลักษณะของการคล้อยตามจารีตประเพณี ที่มองเรื่องเพศว่าเป็นสิ่งที่น่าละอาย ไม่สมควรพูดถึง

ขณะที่คนรุ่นลูก เป็นรุ่นที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และต้องการจะก้าวให้ทันกับยุคสมัย ที่เป็นผลมาจากการเข้ามาของเทคโนโลยี และพลังของสื่อทุกรูปแบบ มองเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ทำให้มีสีสัน เป็นเรื่องที่น่าค้นหา และไม่เสียหายที่จะนำมาพูดถึง ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ให้นิยามเรื่องเพศในแบบที่แตกต่างกันออกไปตามความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และสิ่งแวดล้อมในแต่ละยุคสมัย

การศึกษาเรื่อง “การสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัวไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ ปัญหา อุปสรรคในการสื่อสารเรื่องเพศ และแนวทางการสื่อสารเรื่องเพศที่เหมาะสมของครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น ดำเนินการเก็บข้อมูลทุกภูมิภาคและในเขตกรุงเทพฯ ประชากรที่ศึกษา เป็นเด็กนักเรียนชายหญิงที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 รวมทั้งพ่อ แม่ ผู้ปกครองที่มีเด็กนักเรียนดังกล่าวอยู่ในความดูแล ทำการศึกษาโดยการสัมภาษณ์ระดับลึกและสนทนากลุ่ม แม้การศึกษานี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ข้อสังเกตและข้อคิดที่ได้จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเท่าที่ได้สัมผัสและศึกษา พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ คือ

ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงกลัวว่าการพูดคุยเรื่องเพศ จะเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เด็กไปทดลองปฏิบัติ ในขณะที่ความเป็นจริงเด็กได้ลงมือปฏิบัติกันแล้ว จึงทำให้ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์และท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ถูกถ่ายทอดในบริบทของความไม่รู้ในเรื่องเพศศึกษา จนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่เข้าใจ หรือการไม่รู้จักป้องกันตนเอง ดังนั้นแนวทางการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว ควรคำนึงถึงความแตกต่างของรุ่นอายุ เนื่องจากเป็นประเด็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน และเชื่อมโยงกับบริบท ปัจจัย หรือเงื่อนไขต่างๆ มากมาย ซึ่งต้องทำความเข้าใจจากหลายๆ แง่มุม เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ควรครอบคลุมประเด็นการสื่อสารเรื่องเพศในลักษณะต่างๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษา หรือมีการศึกษาน้อย เช่น การสื่อสารระหว่างพ่อ-ลูกชาย, แม่-ลูกสาว หรือการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัวพ่อ/แม่เดี่ยว ทั้งนี้เพื่อเติมเต็มช่องว่างขององค์ความรู้

ทั้งหมดที่กล่าวมา อาจมีประเด็นสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย และไม่ได้กล่าวถึง แต่คำถามสำคัญของเรื่องนี้ ยายสอนแม่...แม่สอนลูก...ลูกรู้เรื่องเพศอย่างไร..ถึงจะพ้นภัย? จะเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวข้อง นำไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมการเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้นักวิจัย และผู้ที่เคลื่อนไหวในประเด็นนี้ทำการศึกษาในอีกหลายๆ แง่มุม เพื่อร่วมกันหาทางออกได้อย่างรู้เท่าทัน เพื่อให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ

 

 

Since 25 December 2012