เวทีวิจัยประชากรและสังคม

การตั้งรับการย้ายถิ่นของผู้เกษียณอายุจากต่างชาติ: ตัวอย่างดีๆ จากประเทศในอาเซียน

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

โดยหลักการทางประชากรศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงประชากรจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเกิด การตายและการย้ายถิ่นเท่านั้น อย่างไรก็ตามประชากรยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกโดยการผนวกดินแดนหรือการเสียดินแดน แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ และในจังหวะเวลาที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว มุมมองของการเปลี่ยนแปลงประชากรได้ขยายออกไปอีก คือ การย้ายถิ่นของประชากรในภูมิภาคและการให้สัญชาติกับประชากรต่างชาติจะเป็นอีกมิติหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประชากรของประเทศไทย ถ้าจะคิดว่าประชากรไทยมีจำนวน 65 ล้านคน ก็เท่ากับเป็นการคิดแบบหยุดนิ่ง ถ้ายกระดับการคิดเป็นแบบเครือข่ายในภูมิภาคก็มีประชากรได้มากกว่านั้น อาจคิดจำนวนประชากรได้มากถึง 600 ล้านคน และมองประชากรจำนวนมากเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้น ประชากรที่มีศักยภาพมากขึ้น หรืออาจมองว่าเป็นคู่แข่งของเราก็ได้เช่นกัน

เมื่อเป็นอย่างนั้น เราจึงควรมองดูประเทศเพื่อนบ้านให้มากกว่า เขาไปถึงไหนกันแล้ว และเขาทำอะไรกันบ้าง ตัวอย่างของการใช้ประชากรที่มีศักยภาพมากขึ้นให้เป็นประโยชน์ คือ การศึกษารูปแบบที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราใช้ในการดูแลผู้ย้ายถิ่นเกษียณอายุจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนและจากประเทศอื่นๆ ว่าเป็นอย่างไร

ประเทศอินโดนีเซีย  ได้จัดตั้งหน่วยงานการท่องเที่ยวหลังเกษียณ (Retirement Tourism Authority) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เกษียณอายุจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซี่ยนด้วยกันเข้ามาอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย โดยออกวีซ่าเกษียณให้ 1 ปี และขยายเวลาได้ถึง 5 ปี หากผู้ขอวีซ่าไม่ได้ออกจากอินโดนีเซียไปที่ไหนเลย หลังจากนั้นก็จะได้วีซ่าที่มีอายุคราวละ 5 ปี

ประเทศมาเลเซีย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ กระทรวงการท่องเที่ยว ได้สนับสนุนโครงการ “มาเลเซีย: บ้านที่สองของฉัน” (Malaysia: My Second Home: HMZH) เพื่อดึงดูดให้คนต่างชาติ ที่เกษียณอายุและแม้กระทั่งก่อนเกษียณอายุ มาอยู่อาศัยระยะยาวในมาเลเซีย ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ HMZH จะได้รับใบผ่านเข้าประเทศเป็นเวลา 10 ปี พร้อมกับวีซ่าที่สามารถเข้าออกได้หลายครั้งตามแต่ต้องการ โครงการนี้สามารถดึงดูด ผู้สนใจให้เข้าร่วมกว่า 19,488 คน จาก 120 ประเทศ

ประเทศฟิลิปปินส์  มีหน่วยงานเพื่อการเกษียณอายุ (The Philippines Retirement Authority: PRA) ที่ส่งเสริมให้ผู้เกษียณอายุต่างชาติหรือผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปเข้ามาอยู่ในประเทศ โดยออก วีซ่าพิเศษชื่อว่า “A Special Resident Retiree’s Visa (SRRV)” โดยต้องมีเงินฝาก 20,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 50,000 เหรียญสหรัฐ หากบุคคลนั้นมีอายุต่ำกว่า 50 ปี และประสงค์จะใช้เงินฝากเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมหรือเช่าบ้านด้วยสัญญาระยะยาว ผู้เกษียณอายุที่มีความเจ็บป่วยและประสงค์จะได้รับบริการทางการแพทย์อาจจะเลือกวีซ่า SRRV ประเภทที่ต้องมีเงินฝากธนาคาร 10,000 เหรียญสหรัฐ โดยผู้สมัครต้องมีบำนาญ 1,500 เหรียญสหรัฐต่อเดือน และมีประกันสุขภาพ หน่วยงานเพื่อการเกษียณอายุฟิลิปปินส์พยายามชี้ให้เห็นว่า โครงการวีซ่าชนิดนี้ ให้ผลประโยชน์ตอบแทนและมีเงื่อนไขที่เป็นเลิศกว่าประเทศใดๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2555 PRA ระบุว่า มีผู้ได้รับวีซ่าประเภทนี้ 27,000 คน จาก 170 ประเทศ

ประเทศสิงคโปร์  มีการสนับสนุนวีซ่าสำหรับผู้เกษียณอายุเช่นกัน โดยผู้สมัครต้องมีอายุอย่างน้อย 45 ปี และต้องแสดงหลักฐานว่ามีรายได้อย่างน้อย 6,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน และต้องซื้อที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์ที่มีมูลค่าอย่างน้อย 400,000 เหรียญสหรัฐ วีซ่าเพื่อผู้เกษียณอายุนี้มีอายุเพียง 5 ปี

ประเทศไทย  มีการให้วีซ่าสำหรับผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติที่มีอายุอย่างน้อย 60 ปี และมีรายได้อย่างน้อย 2,100 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือมีเงินฝากในธนาคารไทยอย่างต่ำ 26,000 เหรียญสหรัฐ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน วีซ่าเพื่อผู้เกษียณอายุมีระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยได้ออกวีซ่าเกษียณอายุให้ชาวต่างชาติ ถึง 28,731 คน

หลายๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนกำลังแข่งขันกันนำเสนอถึงความสะดวกสบาย และบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสำหรับผู้เกษียณอายุ ในความเป็นจริงมีผู้เกษียณอายุจากหลายประเทศย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก รูปแบบการย้ายถิ่นเช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไป และในที่สุดจะยิ่งทำให้เกิดสังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศปลายทางเหล่านี้

ทำไมประเทศปลายทางเหล่านี้ จึงยอมรับสังคมพหุวัฒนธรรมได้

ประเทศไทยพร้อมหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วจะลดข้อกำหนดอายุ 60 ปี ในการให้วีซ่าแก่ผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติลงมาเป็น 45 ปี อย่างสิงคโปร์ หรือ 35 ปี อย่างฟิลิปปินส์จะได้หรือไม่

การเปิดช่องทางให้ผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศเท่ากับเป็นการนำรายได้เข้าประเทศ ทั้งยังเป็นการนำเข้าแรงงานชั้นดีที่คัดสรรแล้วเข้ามาด้วย

เราจะมีวิสัยทัศน์ในเรื่องเหล่านี้กันอย่างไร?

 

 

Since 25 December 2012