นานาสาระประชากร

เริ่มคิดถึงอนาคต...วันก่อน

ปราโมทย์ ประสาทกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

วันก่อน ไปเดินซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลางที่มีผู้คนไม่มากนัก เห็นคุณลุงคนหนึ่งแต่งตัวทะมัดทะแมง นุ่งกางเกงขาสั้นครึ่งแข้ง ใส่เสื้อยืด สวมรองเท้ากีฬา เดินเลือกซื้อสินค้าอาหารสำเร็จรูป คุณลุงหยิบของชิ้นนี้ชิ้นนั้นขึ้นมาดู ปากก็พร่ำพูดไปคนเดียว คุณลุงพูดกับโทรศัพท์ที่เครื่องคงใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง ดูกริยาท่าทางแล้วก็เดาได้ไม่ยากว่าคุณลุงปรึกษากับใครสักคนเกี่ยวกับการเลือกซื้ออาหาร ผมชำเลืองมองดูแล้วจินตนาการ... จะเอาโยเกิร์ตรสผลไม้รวมดีไหม เอาสักกี่ถ้วยดีนะ แล้วนมล่ะ จะเอายี่ห้ออะไรดี นมเปรี้ยวจะให้ซื้อไปสักขวดไหม เขามีข้าวหมากด้วย จะให้ซื้อไปสักห่อสองห่อไหม....

เดี๋ยวนี้ ทายอายุคนยาก

ผมใช้สรรพนามเรียกชายสูงอายุท่านนี้ว่า “คุณลุง” เพราะเดาว่าท่านน่าจะมีอายุมากกว่าผมเล็กน้อย ถ้าจะให้ถูก ผมควรจะเรียกท่านว่า “คุณพี่” ที่เรียกคุณลุงก็โดยสมมุติว่า ถ้าลูกผมจะเรียกชายผู้นี้ก็ควรใช้สรรพนามว่าคุณลุงเพราะอายุมากกว่าพ่อ ตอนแรกๆ ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าชายผู้นี้จะอายุมากกว่าผม เดี๋ยวนี้ อายุคนค่อนข้างทายกันยาก บางคนหน้าตาแก่ แต่อายุยังน้อย แต่บางคนก็ตรงข้าม หน้าตาท่าทางดูยังเยาว์ แต่พอรู้อายุจริง ก็ต้องอุทานด้วยความประหลาดใจ ที่อายุมากกว่าหน้าตาท่าทางเป็นสิบปี สำหรับคุณลุงคนที่เดินพูดโทรศัพท์

ช้อบปิ้งอยู่นี้ ตอนหลัง เมื่อพิจารณาอย่างเข้าข้างตัวเองแล้ว ผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่าทายไม่ผิด ผมต้องอ่อนวัยกว่า ท่านต้องอายุคราวพี่ของผม และเป็นลุงของลูกผมแน่ๆ

คนเราจะดูแก่หรือไม่แก่ไม่ได้อยู่ที่หน้าตาอย่างเดียว หากยังขึ้นอยู่กับกริยาท่าทางอีกด้วย โชเฟอร์แท็กซี่ได้ให้บทเรียนแก่ผมบทหนึ่งว่าลักษณะท่าทางเวลาเดินสามารถบอกได้ว่าคนนั้นแก่หรือไม่แก่ คนที่เดินกระย่องกระแย่ง ท่าทางเหมือนไม่มีเรี่ยวแรง แม้หน้าตาจะไม่ดูแก่ แต่ท่าเดินของเขา ใครเห็นเข้าก็ต้องบอกว่าแก่ บทเรียนนี้ผมได้จากเหตุการณ์เมื่อวันหนึ่ง วันนั้น ผมต้องใช้บริการรถแท็กซี่เพื่อเดินทางจากสถาบันฯ ไปสนามบินดอนเมือง เผอิญวันนั้นผมมีิอาการปวดหลังจนต้องเดินด้วยท่าทางที่ไม่ปกติ ผมนั่งรออยู่ในที่ร่ม แล้วให้น้องเรียกรถแท็กซี่ให้ เมื่อได้รถแท็กซี่แล้ว ระหว่างทาง ผมคุยกับโชเฟอร์หลายเรื่อง ตอนหนึ่ง โชเฟอร์ถามคำถามที่ผมต้องสะดุ้ง ถ้าผมนั่งบนเก้าอี้ธรรมดา ไม่ใช่นั่งบนเบาะในรถอย่างขณะนั้น ผมคงหงายหลังตกจากเก้าอี้ิไปแล้วอย่างแน่นอน “ลุงอายุเจ็ดสิบเท่าไหร่แล้วครับ” เกิดมาผมไม่เคยได้ยินใครบอกอายุผมเกินราคาไปมากมายขนาดนี้ เคยได้ฟังแต่มธุรสวาจาที่ทายอายุผมต่ำกว่าความเป็นจริง ผมตั้งสติได้ก็พยายามเก็บอาการ ถามเขากลับไปว่ารู้ได้อย่างไรว่าผมอายุถึงเจ็ดสิบ เขาบอกว่า “เห็นตอนลุงเดินมาขึ้นรถ ท่าทางเหมือนคนแก่” ผมแก้ตัวว่าต้องเดินอย่างนั้น เพราะเจ็บหลัง ไม่ใช่เพราะแก่ชรา ตอนหลังผมยังแนะนำเขาว่าการบอกอายุคนให้น้อยๆไว้นับเป็นคำพูดที่สุภาพ คิดว่าเจ็ดสิบ ก็ทายว่าหกสิบ กะว่าหกสิบกว่าๆ ก็ทายว่าน่าจะห้าสิบห้า ทายอายุคนต่ำกว่าความเป็นจริงย่อมนำมาซึ่งความสุขทั้งผู้ทายและผู้ถูกทาย

บทสนทนากับโชเฟอร์แท็กซี่วันนั้น ให้ข้อคิดกับผมว่า เราต้องพยายามวางท่าเดินของเราให้องอาจผึ่งผายไว้เสมอ อย่าเดินอย่างแก่หง่อม หลังค่อมๆ กระย่องกระแย่ง แม้ว่าจะปวดหลังปวดไหล่บ้างก็ต้องทน เพื่อไม่ให้ตัวเราดูแก่เกินวัย

สมัยนี้ คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น มีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น คำจำกัดความของผู้สูงอายุที่ให้ไว้ในมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 นั้นแสดงให้เห็นความล้าหลังของกฎหมายที่มักจะตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ค่อยจะทัน สมัยนี้ คนไทยอายุหกสิบปียังไม่แก่ ยังเร็วเกินไปที่จะเรียกว่าผู้สูงอายุ เมื่อห้าสิบหกสิบปีก่อนอาจจะใช่ เพราะขณะนั้น คนไทยที่อายุหกสิบปีก็จะมีอายุเฉลี่ยที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเพียงประมาณสิบห้าปีเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ คนไทยที่อายุถึงหกสิบปีแล้วก็จะมีจำนวนปีที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเกือบ 25 ปี

โทรศัพท์มือถือหรือโทรจิต

ย้อนกลับมาที่คุณลุงผู้เดินช้อปปิ้งคนเดียว ผมเห็นคุณลุงเดินหยิบโน่นดูนี่ ปากก็คุยโทรศัพท์กับใครคนหนึ่ง โทรศัพท์สมัยใหม่ไม่ต้องใช้มือถือทำให้ไม่ต้องเปลืิองมือ เอาหูฟังเสียบไว้ที่หู ไมโครโฟนเล็กๆ กลัดไว้ที่เสื้อ มีสายโยงไปถึงตัวโทรศัพท์ที่ใส่ไว้ที่ไหนสักแห่ง (ถ้าเป็นเมื่อห้าสิบปีก่อน เห็นคนเดินพูดอยู่คนเดียวอย่างนี้ ใครๆก็ต้องคิดว่าเขาเสียสติอย่างแน่นอน) ดูท่าคุณลุงมีความสุข คนที่คุณลุงคุยด้วยเป็นใครหนอ ภรรยาของคุณลุงที่ิบ้าน ลูกของคุณลุง หรือใคร แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คุณลุงก็ไม่ได้อยู่ตามลำพังคนเดียว

ทุกวันนี้ ผมสังเกตเห็นผู้สูงอายุเดินช้อปปิ้งกันเป็นคู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าตัวผมเองก็เข้าสู่วัยสูงอายุแล้วจึงมองเห็นตัวตนของคนกลุ่มวัยเดียวกันได้ชัดขึ้น บ่อยครั้งที่ผมเห็นสองคนตายายเดินด้วยกันอย่างช้าๆ ตาเข็นรถ ยายเดินเลือกซื้ิอของ ในอนาคต สถานที่จับจ่ายซื้ิอสินค้าอาจต้องปรับตัวให้เข้ากับลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสถานที่ การวางสินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ การบริการลูกค้า การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า หรือเรื่ิองอื่นๆ

กลับมาถึงเรื่องการคุยโทรศัพท์ระหว่างการช้อปปิ้งของคุณลุง ภาพในวันนั้นทำให้ผมคิดว่าเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ช่วยเชื่อมสังคมให้ยังอยู่ใกล้ชิดกันได้ ไม่เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวอย่างที่เคยคิด สังคมไทยกำลังสูงวัยขึ้นเรื่ิอยๆ และจะมีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตามลำพังเพิ่มมากขึ้น การอยู่ตามลำพังนี้ผมหมายถึงทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว และผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับผู้สูงอายุด้วยกัน สมัยนี้ โทรศัพท์มือถือที่พัฒนาก้าวหน้าไปมากจะช่วยให้ผู้สูงอายุติดต่อกับลูกหลาน ญาติพี่น้อง และ เพื่อนฝูง อย่างคุณลุง ที่แม้จะเดินช้อปปิ้งอยู่คนเดียวก็ไม่เหงา

โทรศัพท์ในเมืองไทยก้าวหน้าไปเร็วเหลือเกิน เมื่อห้าสิบปีก่อน บ้านหนึ่งจะขอมีโทรศัพท์สักหมายเลขหนึ่งก็ใช่จะได้กันง่ายๆ ต้องวางเงินประกัน วางมัดจำ แล้วก็ต้องรอด้วยความอดทน ตามหมู่บ้านนอกเมืองในต่างจังหวัดสายโทรศัพท์ยังไปไม่ถึงจึงไม่มีโทรศัพท์ใช้ เดี๋ยวนี้ โทรศัพท์สมัยใหม่ไม่ต้องใช้สาย เครื่องโทรศัพท์ก็ย่อส่วนลงเหลือเล็กกะทัดรัด คนไทยเรียกโทรศัพท์ไร้สายอย่างนี้ว่าโทรศัพท์มือถือ ผมเคยนึกสงสัยว่าถ้าเราไม่ใช้มือถือโทรศัพท์แล้วเราจะใช้อวัยวะส่วนใดของร่างกายถือ แต่ช่างเถอะ เมื่อเรียกกันมาอย่างนี้ แล้วทุกคนเข้าใจตรงกันว่าสิ่งที่เราเรียกอย่างนั้นหมายถึงอะไรแล้ว จะเรียกมันว่าอะไรก็ไม่สำคัญ

ทุกวันนี้ โทรศัพท์ประจำบ้านมีใช้กันน้อยลงทุกที โทรศัพท์ประจำตัวเข้ามาแทนที่ โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นเสมืิิอนอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายคนไทยไปเสียแล้ว โทรศัพท์มือถือหาซื้อได้ง่าย คนจนก็ซื้อชนิดที่มีราคาถูก ราคาเครื่ิองละไม่ถึงพันก็ซื้อได้ คนมีเงินก็ซื้อของแพง เครื่องละหลายๆ หมื่น ชนิดมีลูกเล่นแพรวพราว ทำอะไรต่ออะไรได้สารพัด เดี๋ยวนี้ใช้โทรศัพท์มือถือได้ทุกแห่งในประเทศไทย พ่อแม่ในชนบทสามารถติดต่อกับลูกที่ต้องไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลที่ไหนก็ได้

เมื่อ 40 กว่าปีก่อน เมื่อผมไปเรียนที่อเมริกา ตลอดห้าปีไม่ได้โทรศัพท์มาคุยกับใครที่เมืองไทยเลย เดี๋ยวนี้ อยู่ที่ไหน

ในประเทศไทยก็สามารถคุยกับคนที่อยู่ต่างประเทศได้ด้วยโทรศัพท์มือถือ พ่อแม่สมัยนี้ที่ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศบางคนโทรศัพท์คุยกับลูกเกืิอบทุกวัน เด็กที่ไปเรียนต่อในอเมริกาหรือยุโรปบินกลับมาเยี่ยมบ้านเป็นว่าเล่น ไม่ว่าโรงเรียนจะหยุดยาวหรืิอหยุดสั้น โลกเราแคบลงจริงๆ

อินเทอร์เน็ตกับผู้สูงอายุ

ผมเห็นคุณลุงคุยโทรศัพท์ขณะเดินช้อปปิ้งแล้วก็อยากจะจัดให้คุณลุงเป็นคนในรุ่นวัยเดียวกับผม ผมดูวิธีการใช้โทรศัพท์ของคุณลุงแล้วก็เชื่อได้ว่าคุณลุงรับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ได้ คุณลุงอาจจะติดตามข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ ค้นหาความรู้จากกูเกิ้ล เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ และเผลอๆ คุณลุงอาจจะเล่นเฟซบุ๊กกับเขาด้วย

ผมพูดถึงเฟซบุ๊กเพราะกำลังเป็นกระแสนิยมของโซเซียลมีเดียทุกวันนี้ เพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกับผมกลุ่มหนึ่งกำลังสนุกกับการเล่นเฟซบุ๊ก ติดต่อพูดคุยกันทางอินเทอร์เน็ต เดี๋ยวนี้ ใครไปกินอะไร ก็จะถ่ายรูปอาหารมาอวดเพื่อนๆ ไปเที่ยวที่ไหน อยู่ที่ไหน เห็นอะไรน่าสนใจ พบสิ่งใดสวยๆ งามๆ ก็จะเอารูปมาแสดงพร้อมคำอธิบาย หรือใครมีความคิดความเห็นเกี่ยวกับการบ้าน การเมือง และสังคมอย่างไร ก็นำเสนอให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ คนที่รับเป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊คก็จะเขียนข้อความโต้ตอบ เหมือนกับพูดคุยกันด้วยตัวอักษร ผมเข้าใจว่าเพื่อนหลายคน “เสพติด” เฟซบุ๊กงอมแงม บางคนคอยเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเพื่ิอนๆ ในกลุ่มอยู่ตลอดเวลา

ผมไม่แน่ใจว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมจะนิยมเล่นเฟซบุ๊กกันไปอีกนานเท่าไร พอแก่ตัวลง ไม่ได้ไปกิน ไม่ได้ไปเที่ยวบ่อยๆเหมือนทุกวันนี้ แล้วจะเอาเรื่องอะไรมาคุยกัน

ผมอยากติดตามพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนรุ่นผมต่อไป ขณะนี้ เพื่ิอนๆ รุ่นที่เรียนมหาวิทยาลัยมาพร้อมๆ กันมีหน้าเฟซบุ๊กของตนเองประมาณ 50 คนจากจำนวนเพื่อนทั้งหมด 200 คน เท่ากับ 25% แต่เพื่อนที่ใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่มีเฟซบุ๊กยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ผมยังไม่ได้สำรวจ ผมสงสัยว่าเมื่อพวกเราอายุมากขึ้นแล้วจะยังสนใจเล่นโปรแกรมอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น เฟซบุ๊กเพื่อติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อยู่อีกหรือเปล่า หรือจะเหลือเพียงเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็พัฒนาไปมาก เราสามารถเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์กับเพื่อนคนอื่นที่อยู่ห่างไกลโดยผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้

ในอนาคต ผมเชื่อว่านักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์คงจะพยายามสร้างอะไรสนุกๆ มาให้ผู้สูงอายุทั้งรุ่นเก่าอย่างที่ผมจะเป็น และผู้สูงอายุน้องๆ รุ่นใหม่ได้เล่นกันต่อไป

 

 

Since 25 December 2012