รางวัลอีกโนเบล

กฎหมาย

วรชัย ทองไทย  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

กฎหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เป็นคำนามหมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือระหว่างบุคคลกับรัฐ

กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือเพื่อกำกับความประพฤติของคนในสังคม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข โดยมีบทลงโทษสำหรับคนที่ทำผิดกฎหมาย และมีระบบสำหรับดูแลรักษากฎหมายด้วย ได้แก่ ตำรวจเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจตรา ห้ามปราม และจับกุมผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นขั้นต้นของระบบ ส่วนในขั้นกลางคือ อัยการเป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมหลักฐานความผิด เพื่อฟ้องร้องต่อศาลซึ่งเป็นขั้นปลาย โดยมีผู้พิพากษาเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินผู้ต้องหา ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏต่อหน้า

อย่างไรก็ตาม คนที่ทำผิดกฎหมายจะได้รับโทษ ก็ต่อเมื่อถูกจับและถูกตัดสินว่าทำผิดกฎหมายเสียก่อน แต่ถ้ายังไม่ถูกจับ หรือถ้าถูกจับแล้วแต่มีหลักฐานไม่เพียงพอ ก็อาจหลีกเลี่ยงจากการถูกลงโทษได้เช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษากฎหมาย ได้แก่ ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา จึงต้องทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง บริสุทธิ์ และยุติธรรม

นอกจากนี้ กฎหมายที่บัญญัติขึ้น จะต้องเป็นกฎหมายที่มีความเป็นธรรมด้วย จึงจะทำให้ทุกคนในสังคมยอมปฏิบัติตามกฎหมายด้วยความเต็มใจ อันจะส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข

ปัจจุบันถือกันว่าระบอบการปกครองที่ดีที่สุด คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบที่ตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ โดยตั้งอยู่บนข้อสมมุติที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้มีปัญญา ด้วยข้อสมมุตินี้ กฎหมายที่บัญญัติตามระบอบประชาธิปไตย จึงถือว่าเป็นกฎหมายที่เป็นธรรมด้วย เพราะได้ผ่านการพิจารณาจากผู้มีปัญญาแล้ว โดยกฎหมายที่เป็นธรรม ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนส่วนมาก

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเสียงส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่เสียงที่เกิดจากการใช้ปัญญา พินิจ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน แต่กลับเป็นเสียงที่เกิดจากความคิดเห็นตามอารมณ์เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายที่บัญญัติออกมาย่อมจะไม่เป็นธรรมตามไปด้วย เพราะแทนที่จะเป็นกฎหมายเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ กลับกลายเป็นกฎหมายเพื่อให้คนส่วนน้อยได้ประโยชน์เท่านั้น

กฎหมายที่เป็นธรรมนี้ คนไทยเราน่าจะรู้จักกันเกือบทุกคน เพียงแต่ไม่ได้เฉลียวใจเท่านั้น เพราะไม่ได้ถูกตราขึ้นโดยรัฐ นั่นก็คือ ศีล 5

ศีล 5 เป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้น เพื่อให้มนุษย์ในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในปัจจุบัน เพราะเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เว้นจากการประพฤติชั่ว และเพื่อควบคุมตนเองไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น ประกอบด้วย

  • ปาณาติปาตา เวรมณี คือ เว้นจากการฆ่า การประทุษร้ายกัน
  • อทินนาทานา เวรมณี คือ เว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เว้นจากการลักขโมย โกง ละเมิดกรรมสิทธิ และทำลายทรัพย์สิน
  • กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน
  • มุสาวาทา เวรมณี คือ เว้นจากการพูดเท็จ พูดโกหก และพูดหลอกลวง
  • สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี คือ เว้นจากน้ำเมาคือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และเว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ

ถ้าเราได้ใช้ปัญญาพิจารณาศีล 5 นี้แล้วก็จะพบว่า ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 4 เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวเราเองทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่ควรไปกระทำกับผู้อื่นเช่นกัน ส่วนข้อ 5 นั้น ถ้าประมาทเสียแล้ว เราก็อาจละเมิดตั้งแต่ข้อ 1 ถึง ข้อ 4 โดยไม่รู้ตัวได้

อย่างไรก็ตาม ศีล 5 เป็นเพียงข้อปฏิบัติที่ทำด้วยความสมัครใจ จึงไม่ใช่กฎหมายในความหมายที่แท้จริง เพราะไม่มีบทลงโทษ ดังนั้น กฎหมายที่บัญญัติให้สอดคล้องกับศีล 5 จึงเป็นกฎหมายที่เป็นธรรม

เพื่อให้เราสามารถปฏิบัติตามศีล 5 (เบญจศีล) ได้อย่างสม่ำเสมอ พระพุทธเจ้าจึงได้บัญญัติธรรม 5 (เบญจธรรม) ควบคู่กับศีล 5 ด้วย โดยเบญจธรรมเป็นธรรมเกื้อกูลแก่การรักษาเบญจศีล ผู้รักษาเบญจศีลควรมีไว้ประจำใจ

ธรรม 5 ประกอบด้วย 1) เมตตาและกรุณา 2) สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพโดยสุจริต 3) กามสังวร คือ รู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ ไม่ให้หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส 4) สัจจะ คือ ความสัตย์ ความซื่อตรง 5) สติสัมปชัญญะ คือ ฝึกตนให้รู้จักยั้งคิด รู้สึกตัวเสมอว่า สิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ ซึ่งแต่ละข้อของเบญจธรรมจะตรงกับแต่ละข้อของเบญจศีล

สรุปแล้ว ศีล 5 เป็นข้อปฏิบัติเพื่อไม่ให้ทำความชั่ว ส่วนธรรม 5 เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ทำความดี

เนื่องจากกฎหมายที่บัญญัติตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นกฎหมายที่เป็นธรรมเสมอไป จึงมักจะมีกฎหมายที่แปลก และไม่น่าเชื่อให้เห็นอยู่เป็นประจำ

สำหรับรางวัลอีกโนเบลนั้น ไม่ปรากฏว่ามีรางวัลในสาขากฎหมายโดยตรง แต่ก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ที่ได้รับรางวัลอีกโนเบลสาขาเคมี ในปี พ.ศ. 2537 เป็นรางวัลที่มอบให้กับ Bob Glasgow สมาชิกสภาสูงของรัฐเท็กซัส ที่ออกกฎหมายควบคุมสารเสพติด ซึ่งบัญญัติว่า ใครก็ตามที่ซื้อหลอดแก้วทดลองชนิดต่างๆ ทางเคมี โดยไม่มีใบอนุญาตถือว่าทำผิดกฎหมาย

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ทำให้ “ขำ” ก่อน “คิด”

Since 25 December 2012