ประกันสังคม มาตรา 40 : ความมั่นคงยามชราภาพของผู้สูงวัยไทย
กุศล สุนทรธาดา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เป็นข่าวฮือฮาทางสื่ออย่างครึกโครม ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2557 ก่อนที่สำนักงานประกันสังคมจะปิดการรับสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยเฉพาะในวันสุดท้ายคือวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ที่มีผู้สูงวัยแห่กันมาสมัครเป็นผู้ประกันตน ทั้งๆที่มีการเปิดรับสมัครมาแล้วทั้งปี และฮือฮาอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมกราคม 2558 ที่ผู้สูงอายุทยอยมาลาออกเพื่อขอรับเงินคืนพร้อมสิทธิประโยชน์ ที่เขียนบทความนี้ีก็เพราะเห็นว่าจะมีการเปิดรับผู้ประกันตนกลุ่มใหม่อีกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อีก 10 วัน เพื่อให้ผู้สูงวัยได้เข้าใจก่อนตัดสินใจเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 วัตถุประสงค์ของกฏหมายประกันสังคม มาตรา 40 ก็คือการขยายความคุ้มครองให้แก่ แรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ (อายุ 15-60 ปี) และผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ได้มีเงินไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิต หรือมีหลักประกันยามชราภาพ (กรณีสมัครเป็นผู้ประกันตนตามแต่กรณี) โดยมีทางเลือกให้ 5 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท โดยผู้ประกันตนจ่าย 70 บาทต่อเดือน รัฐบาลจ่ายสมทบให้อีก 30 บาทต่อเดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท โดยผู้ประกันตนจ่าย 100 บาทต่อเดือน รัฐบาลจ่ายสมทบอีก 50 บาทต่อเดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิตและ บำเหน็จชราภาพ (เพิ่มกรณีชราภาพ เมื่อเทียบกับกรณีแรก) ส่วนทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 200 บาท โดยผู้ประกันตนจ่าย 100 บาทต่อเดือน รัฐบาลจ่ายสมทบ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์ 1 กรณี คือ กรณีบำเหน็จชราภาพ ทางเลือกที่ 4 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเอง 170 บาท รัฐจ่ายสมทบอีก 130 บาท จะได้รับคือสิทธิประโยชน์ 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และ บำนาญชราภาพ ทางเลือกที่ 5 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 350 บาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเอง 200 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ทุกกรณี คือ กรณี ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ
สำหรับผู้สูงอายุ หรือแรงงานนอกระบบ อายุ 60-65 ปี (อายุไม่เกิน 65 ปี) สมัครได้ทุกทางเลือก ส่วนผู้สูงอายุ หรือแรงงานนอกระบบที่อายุ 65 ปีขึ้นไป สมัครได้เฉพาะทางเลือกที่ 3 ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีเงินบำเหน็จชราภาพเพียงอย่างเดียว และสามารถจ่ายเงินย้อนหลังได้ถึง 3,200 บาท (คือย้อนหลังได้ถึง 32 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 แต่จะจ่ายน้อยกว่านี้ก็ได้) โดยรัฐบาลจะจ่ายสมทบให้อีกเท่าตัว ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิประโยชน์จากเงินออมมากกว่าธนาคาร และมีหลักประกันที่มั่นคงขึ้นเมื่อมีความจำเป็นยามชราภาพ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการออมเงินไว้ใช้ในยามที่จำเป็น
ในการสมัครเป็นผู้ประกันตนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร หลักฐานที่ใช้ก็คือ บัตรประชาชน และกรอกแบบ “คำขอสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40” ซึ่งให้ระบุตัวตนของผู้สมัครตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ อาชีพปัจจุบัน ประมาณการรายได้ สภาพร่างกาย (ปกติ หรือพิการ) โดยผู้ประกันตนไม่ต้องตรวจสุขภาพ และระบุทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบ (เฉพาะผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป สมัครได้เฉพาะทางเลือกที่ 3)
อย่างไรก็ตาม กฏหมายประกันสังคม มาตรา 40 กรณีผู้สูงอายุ ยังมีช่องโหว่ของกฎหมายในหลายประเด็น ได้แก่ 1) การไม่มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตน เช่น ไม่ระบุระยะเวลาในการเป็นผู้ประกันตน เป็นต้น ทำให้มีผู้ประกันตนบางส่วนทยอยลาออก เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ในส่วนที่ส่งเงินสมทบและส่วนที่รัฐสมทบให้ 2) การให้ผู้ที่มีสิทธิประโยชน์ได้รับเงินบำนาญจากกองทุนอื่นๆ สามารถสมัครใช้สิทธิประกันสังคม มาตรา 40 ได้อีก 3) การเปิดให้ผู้ประกันตนสามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ ทำให้รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินสมทบจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ และ 4) หากมีการลาออกเพื่อขอรับเงินสมทบในเวลาอันรวดเร็วถือว่าผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ เพราะอาจมีผู้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อบิดเบือนการขอรับเงินสมทบจากรัฐบาล ดังนั้น สำนักงานประกันสังคม กำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ว่าการลาออกเพื่อขอรับเงินสมทบในเวลาอันรวดเร็วถือว่าผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และได้ส่งร่างพระราชกฤษฏีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของสิทธิประโยชน์ทดแทน รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนของผู้ที่สมัครเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงจะสามารถขยายระยะเวลาการรับสมัครประกันสังคม ตามมาตรา 40 รอบใหม่ได้ ตามคำเรียกร้องของผู้สูงอายุที่มีความต้องการ แต่สมัครไม่ทันวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะรับสมัครได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้