ประเด็นทางประชากรและสังคม
การดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยในระยะสุดท้าย:การสังเกตอาการ
กุศล สุนทรธาดา
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 10 ในอีก 10 ปีข้างหน้า สังคมของเรากำลังจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” นั่นหมายความว่าประเทศไทยของเราจะมีคนสูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 15 ถ้าท่านมีโอกาสไปโรงพยาบาลของรัฐ ท่านจะเห็นผู้สูงอายุมากมายในทุกแผนก โดยเฉพาะในแผนกอายุกรรมและหอผู้ป่วยใน เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ หลายโรคประกอบกัน เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง โรคกระดูก และโรคชราที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ ทำให้การรักษาซับซ้อนขึ้นและต้องการการดูแลที่ยาวนานขึ้น ทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน ปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งในกรุงเทพฯ มีการจำกัดจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดไว้ที่ไม่เกิน 15 วัน ทำให้ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อยขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยในระยะสุดท้าย ซึ่งจำเป็นต้องมีการดูแลที่ใกล้ชิดและต่อเนื่อง อันเป็นภาระหนักของผู้ดูแล
สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หมายถึงการดูแลผู้ป่วยในระยะก่อนเสียชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ รวมถึงการดูแลในระยะที่กำลังเข้าสู่ความตาย ขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อให้สามารถประคับประคองผู้ป่วยให้มีความสุขสบายในวาระสุดท้ายของชีวิต ในระยะนี้ผู้ดูแลสามารถสังเกตอาการก่อนเสียชีวิตได้คือ
- กินอาหารไม่ได้ หรือกินได้น้อยลงเรื่อยๆ จนต้องให้อาหารเหลว หรืออาหารทางสายยาง การกินอาหารไม่ได้อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น ท้องไม่อืด และบรรเทาการเจ็บปวดลงได้ เพราะสภาพของการนอนติดเตียง แต่แพทย์หรือญาติต้องติดตามประเมินดูภาวะซีด ภาวะความผิดปกติของเกลือแร่ และอาจพิจารณาให้เลือด หรือสารน้ำและอาหารเมื่อจำเป็น
- การขับถ่าย อาจมีมูกเลือดออกมาพร้อมกับอุจจาระ หรือปัสสาวะ ควรมีการจดบันทึกจำนวนครั้งของการขับถ่าย พร้อมสังเกตสิ่งเจือปน ผู้ดูแลไม่ต้องตกใจ แจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ (กรณีอยู่ที่โรงพยาบาล) ที่สำคัญคือการรักษาความสะอาดหลังการขับถ่าย เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ควรพลิกตัวผู้ป่วยบ่อยๆ เพื่อป้องกันแผลกดทับ
- มีอาการอ่อนเพลีย ควรให้ผู้ป่วยในระยะนี้ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่มักจะนอนหลับในตอนกลางวัน แต่ตื่นในตอนกลางคืน (สลับกลางวันเป็นกลางคืน และกลางคืนเป็นกลางวัน) ถ้าผู้ดูแลไม่เข้าใจคอยปลุกผู้ป่วยบ่อยๆ จะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ดังนั้น ผู้ดูแลอาจต้องปรับตัวเรื่องการนอน หรือหาผู้ช่วยมาดูแลตอนกลางคืน
- ดื่มน้ำน้อยลงหรืออาจไม่ดื่มเลย ภาวะขาดน้ำในระยะใกล้ตายไม่ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน แต่กลับกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดฟิน ทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้น หากปาก/ ริมฝีปากแห้ง จมูกแห้ง หรือตาแห้ง ก็ใช้สำลีหรือผ้าชุบน้ำเช็ด หรือทาด้วยวาสลิน
- อาจมีอาการร้องครวญคราง หรือมีหน้านิ่วคิ้วขมวด ซึ่งอาจไม่ใช่เกิดจากความเจ็บปวด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสมอง เข้าสู่ภาวะกึ่งไม่มีสติสัมปชัญญะ แต่ถ้าเกิดจากการเจ็บปวด ก็จะได้รับยาแก้ปวด ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งผลถึงสมองด้วย
- ไม่ค่อยรู้สึกตัว ญาติหรือผู้ดูแลควรพูดข้างๆ หูในสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยสบายใจ เพราะผู้ป่วยยังรับรู้และได้ยิน แต่ไม่สามารถตอบสนองได้ ทางโรงพยาบาลหลายแห่งได้ให้ผู้ป่วยและญาติประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น นิมนต์พระมารับการใส่บาตร ถวายสังฆทาน และให้ฟังพระเทศจากเทป เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสบายใจ เป็นการเสริมกำลังด้านจิตวิญญาณให้สุขสงบ
- ความดันโลหิตไม่ค่อยปกติ อาจพุ่งขึ้นหรือตกลง ออกซิเจนในเลือดอาจลดลง ถ้าอยู่ที่โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาลจะเป็นผู้ดูแลแก้ไข ถ้าไม่แก้ไขก็เข้าขั้นวิกฤติไม่ต้องยื้อชีวิต
- ระยะก่อนตาย ผู้ป่วยจะนอนหลับตลอดเวลา แทบไม่เปิดตา การตอบสนองต่างๆ เช่น การพูด มือ เท้า จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ปัสสาวะและอุจจาระออกน้อยลง สีเข้มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง อวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมสภาพลงพร้อมๆ กัน ทำให้ภาวะความเป็นกรดด่างไม่สมดุลย์ เช่น มีแอมโมเนียคั่งเพราะตับวาย ท้องและตัวบวม การหายใจแรงและเร็ว ก่อนเฮือกสุดท้าย
ถ้าผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลและมีความปรารถนาจะเสียชีวิตที่บ้าน (ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัด) ครอบครัวและญาติต้องประสานงานกับบุคลากรของโรงพยาบาลว่าเมื่อไรจึงควรนำผู้ป่วยกลับบ้าน เพื่อให้ครอบครัวได้เตรียมการ และโรงพยาบาลสามารถส่งผู้ป่วยถึงบ้านได้ทันเวลา โรงพยาบาลหลายแห่งมาดูแลให้คำแนะนำปรึกษาที่บ้านอย่างต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้าย ทำให้สามารถเชื่อมต่อการดูแลที่บ้านและโรงพยาบาลได้อย่างลงตัวจนถึงวาระสุดท้าย และครอบครัวได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจและตั้งสติ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการดูแลผู้ป่วยก่อนเสียชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุด
* บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนในการดูแลคุณแม่ก่อนท่านจะเสียชีวิต ร่วมกับการฟังจากคำแนะนำปรึกษาของแพทย์ พยาบาล และคนดูแล รวมทั้งการสังเกต ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทั้งที่มีโอกาสและยังไม่มีโอกาสดูแลผู้สูงอายุด้วยตนเองไม่มากก็น้อย