นานาสาระจากห้องสมุด
จิตวิทยากับการดำเนินชีวิตประจำวัน
เพ็ญพิมล คงมนต์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน หมายถึง การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่ออธิบาย คาดการณ์ หรือควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อจะได้เข้าใจและสามารถนำชีวิตของเราให้ดำเนินไปได้อย่างเฉลียวฉลาด และยังมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกับเราด้วย เพื่อชีวิตของเราจะมีความสุขและประสบความสำเร็จมากขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า
“คนเราเกิดมามีชีวิตอยู่กับคน เรียนรู้ และทำงานร่วมกับคน ใช้สิ่งต่างๆ ในสังคม ร่วมกับคน มีชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะคน”
คำกล่าวข้างต้นชี้ว่าทุกชีวิตจะต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล ดังต่อไปนี้
1. ช่วยให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ รู้ถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์เกิดความรู้สึกอย่างไรเมื่อไม่สามารถสนองตอบความต้องการของตนเองได้ และอะไรเป็นแรงผลักดันให้คนแสดงพฤติกรรมต่างกัน
2. ช่วยในการปรับตัวและแก้ปัญหาทางจิตใจของตนเอง รู้วิธีรักษาสุขภาพจิตของตนเอง รู้วิธีเอาชนะปมด้อย วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และขจัดความวิตกกังวลต่างๆ ได้
3. ช่วยให้เกิดการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น สามารถเข้าใจและรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับผู้อื่น
คนที่ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข คือคนที่มีความสมหวัง สามารถประกอบกิจการงานประสบความสำเร็จตามความปรารถนา มีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวหรือวิตกกังวล มีอารมณ์มั่นคง มีความอดทนและมีความสามารถต่อสู้อุปสรรคต่างๆ ได้ เป็นคนที่ยอมรับความจริงในชีวิต ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม สรุปว่า คนที่มีความสุขก็คือ คนที่มีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นคนที่สามารถปรับตัวได้อย่างดีในการดำรงชีวิตประจำวัน
การนำหลักด้านจิตวิทยามาใช้ในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข สรุปเป็นข้อๆ ดังนี้
- รักษาสุขภาพทางกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- รู้จักตนเองอย่างแท้จริง
- เป็นผู้มีความหวัง
- กล้าเผชิญกับความกลัวและความกังวลใจ
- ไม่เก็บกดอารมณ์ที่ตึงเครียด
- เป็นผู้มีอารมณ์ขัน
- ยอมรับข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของตนเอง
- รู้จักพอใจในสิ่งที่ตนทำอยู่
- มีความต้องการพอเหมาะพอควรและมีความยืดหยุ่นได้
- ไม่คิดถึงแต่ตัวเองตลอดเวลา
- ยอมรับสภาพของตัวเองโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น
- เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
- หาเพื่อนสนิทที่สามารถระบายความทุกข์และปรึกษาหารือได้
- จงปล่อยให้เหตุการณ์บางอย่างผ่านไปตามแนวทางของมัน
- จงตระหนักว่า เวลาเป็นยารักษาความเจ็บปวด เมื่อพลาดหวังหรือผิดหวัง
- ไม่ปล่อยให้เวลาว่างไปวันหนึ่งๆ โดยไม่ทำอะไร
ความสุขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เป็นการมองชีวิต มองตัวเอง และมองผู้อื่น ดังนั้นความสุขจึงเกิดขึ้นได้กับคนทุกชนชั้นไม่ว่าผู้ดี มั่งมี หรือยากจน
ที่มา: m-saga. (2553). “จิตวิทยากับการดำเนินชีวิตประจำวัน” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.clipmass.com/story/21800 (19 พฤษภาคม 2557)