ประเด็นทางประชากรและสังคม
ชีวิตที่ดี....
ภัสสร ลิมานนท์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ศาสตราจารย์ ดร.ภัสสร ลิมานนท์ เกษียณอายุจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตหลังเกษียณ มาให้พวกเราได้อ่านกัน
ตอนที่ 1
คำจำกัดความของ “ชีวิตที่ดี” สำหรับแต่ละคน แต่ละวัย ย่อมแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับภูมิหลังและประสบการณ์ชีวิต สำหรับบางคน ความหมายของการมีชีวิตที่ดี คือการมีเงินทองใช้จ่ายคล่องมือ สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้เกือบทุกเมื่อ ในขณะที่ชีวิตที่ดีสำหรับอีกคนนั้น เงินทองอาจไม่จำเป็นมากเท่ากับการมีครอบครัวที่อบอุ่น อยู่กันพร้อมหน้าแม้ต้องอดมื้อกินมื้อ ชีวิตที่ดีสำหรับคนวัยหนุ่มสาว อาจหมายถึงการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้เงินเดือนคุ้มค่าเหนื่อยแม้ไม่ได้พักผ่อนมากมายเท่าที่ควรจะเป็น ส่วนผู้สูงวัย ชีวิตแบบไหนก็ไม่ดีเท่ากับการมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นภาระของครอบครัว
วันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้ยิน spot จากสถานีโทรทัศน์สาธารณะช่อง PBS ที่หยิบยกคำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุ (มีคำแปลภาษาอังกฤษให้ด้วย) มาออกอากาศ ท่านว่า “ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่สงบเย็น และเป็นประโยชน์ ษGood Life is a Peaceful and Useful Life” ชอบใจมากจนต้องจด (และจำ)ไว้เป็นประเด็นพิจารณาว่า ตัวเรา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัยที่ได้ผ่านวันเวลาและประสบการณ์ชีวิตมาแล้วไม่น้อย ได้มีชีวิตที่ดีษที่มีความสงบเย็นมากน้อยเพียงใด และได้ทำตนให้เป็นประโยชน์ (กับคนอื่นๆ) มากพอแล้วหรือยัง เผื่อว่าจะได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ปรับตัวและปรับใจให้ชีวิตดีขึ้นในบั้นปลาย
สำหรับประเด็น “การทำตนให้เป็นประโยชน์” นั้น คิดว่าตัวเองน่าจะได้ทำแล้วอย่างเต็มที่ เพราะตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในวัยทำงานตั้งแต่แรกเริ่มจนเกษียณอายุ (และทำงานต่อหลังวันเกษียณอายุอีกพักใหญ่) ได้อุทิศตนเองทำงานที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มกำลังเท่าที่สติปัญญามีให้ทำได้ และยังได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากต้องการความช่วยเหลือมาไม่น้อย แต่หากจะถามว่าในช่วงเวลานั้น ตัวเองได้มี “ความสงบเย็น” มากพอแล้วหรือยัง คำตอบคือ น่าจะยังมีได้ไม่เต็มร้อยด้วยสาเหตุปัจจัยรอบด้านที่คนวัยทำงานรู้ๆ กันดีอยู่ ครั้นเมื่อเกษียณอายุ พ้นจากภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงจะเอาตัวเองเข้าวัดปฏิบัติธรรมแสวงหาความสงบแห่งชีวิตเหมือนที่หลายคนทำและประสบความสำเร็จมาแล้ว ก็สุดความสามารถเพราะเป็นคนอยู่นิ่งๆเงียบๆ กับใครเขาไม่เป็น จึงจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งที่จะให้ความสงบเย็นในแบบฉบับของตัวเอง
ทางเลือกแบบง่ายๆ ก็คือการไปซื้อห้อง (ในรูปแบบคอนโดมีเนียม) ที่สร้างขึ้นเป็นที่พักสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น (อายุ 55 ปีขึ้นไป) ดำเนินการโดยองค์กรสาธารณะสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เพื่อที่ตัวเองจะได้พักอาศัยอย่างเงียบสงบในวันที่สูงวัยกว่านี้ และเพื่อจะได้ไม่รบกวน (หรือเป็นที่รำคาญ) ของลูกหลานมากนัก ทันทีที่เพื่อนฝูง คนรู้จักทราบข่าว เสียงคัดค้าน ไม่เห็นด้วยก็ดังขึ้นระงม แต่เราก็มีข้อโต้ตอบในใจสำหรับทุกข้อเช่นว่า “ไปอยู่ทำไม บ้านพักคนชรา เดี๋ยวเฉาแย่ (ตัวฉันเองก็แก่แล้วเหมือนกัน)” “บ้านตัวเองก็มี ไปซื้ออีกทำไม (น่าจะถามคนที่มีบ้านทั่วทุกทิศอีก 3-4 หลัง)” “ไปอยู่เสียไกล ใครจะไปเยี่ยมได้ (ตอนฉันอยู่ในเมืองก็ไม่เห็นใครมาเยี่ยม)” หรือ “ไม่เห็นดีเลยไม่เหมาะที่จะไปอยู่ (คนพูดยังไม่เคยเห็นโครงการ วิจารณ์ไปล่วงหน้า)” “จ่ายเงินค่าห้องไป สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นของเรา ลงทุนไปทำไม (ก็คิดแล้วว่าจะให้เป็นเงินบริจาคสำหรับองค์กรนี้ ตายไปก็เอาห้องไปด้วยไม่ได้ ยกให้คนอื่นเข้าอยู่ต่อก็น่าจะดี)” และอีกสารพันคำถามที่ตามมาอีกมากมายด้วยความหวังดี (โดยไม่น่าประสงค์ร้าย)
เมื่อเข้ามาอยู่บ้าน ‘หลังที่สอง’ แห่งนี้ (แบบไปๆ มาๆ) ได้เกือบครบปี คำถามและความห่วงใยของเพื่อนฝูงที่ตัวเองเคยไขว้เขวแอบนำมาคิดกังวลก็ค่อยๆ มีคำตอบให้และสามารถปรับตัวตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ไม่ยากนัก เช่น การเดินทางไปมาระหว่างบ้านเดิมที่อยู่ในเมืองมายังบ้านใหม่ที่อยู่ค่อนข้างไกลออกมานี้ อาจไม่สะดวกบ้างแต่ยังขับรถเองได้อยู่ รอเวลาอีกเพียงไม่เกินหนึ่งปี เส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างก็จะเปิดดำเนินการให้บริการเกือบจ่อประตูรั้วหน้าบ้าน ทำให้ต่อไปการเดินทางไปกลับเข้าเมืองได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง แล้วจะเดือดร้อนไปใย อยู่ที่บ้านใหม่นานเข้า เมื่อใดที่เบื่อความสงบเงียบ (ที่เงียบสุดๆ) ก็ขับรถพาตัวเองเข้าไปหาความวุ่นว่ายในเมืองได้ตามใจอยาก ส่วนเรื่องอาหารการกินที่เคยมีมากมาย สารพัดให้เลือกซื้อตลอดเวลาเมื่ออยู่ในเมือง (ซึ่งทำให้เกิดภาวะกินเกินอยู่เสมอ) ต้องปรับตัวเองให้รู้จักเลือกสรรในการซื้อหา และในปริมาณที่เหมาะสมกับการขนซื้อเข้าบ้านในแต่ละอาทิตย์ ไม่ให้มากเกิน ไม่ต้องเก็บนานและต้องเป็นประโยชน์จริงๆ (ยามยากอาจกินบะหมี่สำเร็จรูปเป็นบางครั้ง) ตัดขนมขบเคี้ยวออกไปได้อย่างสิ้นเชิงเพราะไม่มีร้านสะดวกซื้อให้เดินเข้าออกตามใจอยาก
การใช้เวลาในแต่ละวันที่บ้านใหม่แห่งนี้ก็เช่นกัน เคยมีคำถามว่า “อยู่ที่นั่น วันๆ ทำอะไร??? ไม่เห็นมีอะไรให้ทำ??” คำถามนี้ ตัวเองก็เคยคิดอย่างหวาดหวั่นเหมือนกันตามประสาคน ‘ไฮเปอร์’ ว่า เกษียณแล้วจะทำอะไรให้แต่ละวันหมดไปด้วยดี มีประโยชน์บ้างแก่ทั้งตัวเองและผู้อื่น ไม่นั่งหายใจเข้าออกตั้งแต่เช้าเพื่อรอเวลาเข้านอนโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ครั้นเมื่อถึงเวลานั้นเข้าจริง คือต้องมาอยู่ในสภาวะที่ไม่ต้องวุ่นวายตั้งแต่เช้าจรดค่ำด้วยสารพัดงาน สารพัดเรื่องปวดหัว (บางครั้งปวดใจ) และต้องอยู่กับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ในแต่ละวัน นานวันเข้า บ้านใหม่แห่งนี้เริ่มทำให้รู้สึกว่า โอกาสที่จะแสวงหา “ความสงบเย็น” ที่เราจะมอบให้กับชีวิตตัวเองนั้นมีได้ไม่ยากและ แท้จริงแล้ว “ความสงบเย็น” ที่ว่านี้ได้อยู่รอบตัวเราเสมอมา เพียงแต่ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายในช่วงเวลาเกือบ 40 ปีที่เราใช้ให้หมดไปกับความวุ่นวายกับชีวิตการทำงาน
โปรดติดตามอ่าน “ชีวิตที่ดี” ตอนที่ 2 ในประชากรและการพัฒนา ฉบับหน้า