เวทีวิจัยประชากรและสังคม

อคติต่อผู้สูงวัย : ใคร??... เริ่มต้นเปลี่ยน

กมลชนก ขำสุวรรณ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์กำลังหลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทย ประกอบกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คนรุ่นใหม่กำลังซึมซับความคิดและวิถีการดำเนินชีวิตทั้งทุนนิยมและบริโภคนิยมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงวัยของคนรุ่นใหม่อาจเปลี่ยนไป แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนและสัดส่วนผู้สูงวัยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนทุกวันนี้ คนไทยเริ่มรู้สึกแล้วว่าในสังคมมีผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางประชากรที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความตื่นตัวและเตรียมการเพื่อรองรับและดูแลประชากรสูงวัยมากขึ้น ทำให้ประเด็นเรื่องผู้สูงวัยเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากสังคมปัจจุบันเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจเรื่องคุณค่าของผู้สูงวัยจึงมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อสังคมมองผู้สูงวัยมีคุณค่าผู้สูงวัยก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชากรวัยอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงคนในสังคมส่วนหนึ่งยังคงมองผู้สูงวัยอย่างมีอคติหรือ “วยาคติ” (Ageism) ซึ่งหมายถึงทัศนคติเชิงลบที่มีต่อคนวัยใดวัยหนึ่ง โดยทั่วไป “วยาคติ” จะใช้กับผู้สูงวัย เนื่องจากสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยตามวัย มีสุขภาพที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน ทำให้ไม่ได้ทำงานเชิงเศรษฐกิจหรือถ้าทำงานก็ให้ผลผลิตต่ำ ยิ่งมีอายุสูงขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ มากขึ้น จึงถูกมองว่าเป็นผู้ที่ต้องการช่วยเหลือจากสังคมและภาครัฐ ซึ่งแนวคิดอคติต่อผู้สูงวัยนี้เป็นมุมมองแบบเหมารวม นำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้านอายุ  ในขณะที่สถานการณ์อคติต่อผู้สูงวัยเช่นนี้ ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมไทย นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยังมีอคติต่อตัวเอง เช่น มองว่าเป็นภาระของบุตรหลานหรือครอบครัว เป็นคนน่าเบื่อ หัวดื้อ ไม่อดทน ขี้หงุดหงิด หรือคิดช้า เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ยาก ตามโลกไม่ทัน (กมลชนก ขำสุวรรณ, 2555) ซึ่งการที่ผู้สูงวัยมีอคติต่อตัวเองเช่นนี้ อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมกิจกรรมที่จะทำให้ผู้สูงวัยมีคุณค่าได้

หากแนวโน้มจำนวนและสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นกังวลว่า หากคนในสังคม และตัวผู้สูงวัยยังคงมีมุมมองที่เป็นอคติแบบเหมารวมเช่นนี้ ซึ่งอาจจะไม่เป็นจริงในภาพรวมก็ได้ แล้วผู้สูงวัยจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีสถานภาพเท่าเทียมกับประชากรวัยอื่นๆ ได้อย่างไร? 

แล้วใคร?? จะเริ่มต้น เปลี่ยน.. คนในสังคม ผู้สูงวัย หรือทั้งสองอย่าง ผู้เขียนคิดว่าคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะไม่ว่าใครจะเริ่มต้น ผู้สูงวัยก็ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในขณะนี้คือการนำเสนอผู้สูงวัยในลักษณะบวกให้มากขึ้น เช่น ผู้สูงวัยที่มีศักยภาพใช้ความสามารถและภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์ หรือการได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติหรือประกาศเกียรติคุณ ที่เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงศักยภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม  มีความภาคภูมิใจ มองเห็นคุณค่าของตัวเอง รวมทั้งการเผยแพร่ข้อค้นพบจากงานวิจัย ที่ให้ภาพผู้สูงวัยเชิงบวกแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ชมรมคลังปัญญาผู้สูงอายุ เป็นอีกก้าวหนึ่งของการให้คุณค่าในมิติใหม่ๆ กับผู้สูงวัย โดยแต่ละจังหวัดจะเป็นสถานที่รวบรวมองค์ความรู้ของผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ (สท.) มีการส่งเสริมการดำเนินงานของชมรมคลังปัญญาผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะผู้สร้างคุณูปการให้แก่สังคม และถอดบทเรียนองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่โดดเด่นที่มีอยู่ในตัวของผู้สูงวัยมาเผยแพร่ และนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนการจัดกิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญาตามที่สาธารณะต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดและส่วนกลาง

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่ผ่านมีลักษณะหลากหลาย ทั้งในจังหวัดที่ดำเนินการเข้มแข็งและไม่เข้มแข็งขึ้นอยู่กับบริบทของจังหวัด ทำให้ภาพรวมไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สท.และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำ “มาตรฐานชมรมคลังปัญญาผู้สูงอายุจังหวัด” เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานชมรมคลังปัญญาผู้สูงอายุทุกจังหวัด ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการนำมาตรฐานไปปฏิบัติมีหลายฝ่าย ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานใช้เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายในการทำงาน  สท.ใช้ประเมินความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานในภาพรวมของประเทศ ผู้สูงวัยได้แสดงความสามารถและผลงานมากขึ้น คนในชุมชนและสังคมมีความพึงพอใจที่ผู้สูงวัยเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม

ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจมีประเด็นสำคัญอื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่คำถามสำคัญของเรื่องนี้ “อคติต่อผู้สูงวัย ใคร??...เริ่มต้นเปลี่ยน” จะเป็นอีกหนึ่งความพยายามของ “ชมรมคลังปัญญาผู้สูงอายุ” ในการนำเสนอคุณค่าของผู้สูงวัยที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะมี “มาตรฐานชมรมคลังปัญญาผู้สูงอายุจังหวัด” กำกับ และยิ่งจะเป็นก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ ที่จะพาผู้สูงวัยพ้นอคติมากยิ่งขึ้น


กมลชนก ขำสุวรรณ. (2555). ผู้สูงอายุที่ยังคุณประโยชน์ในจังหวัดกาญจนบุรี. ในวารสารสังคมศาสตร์ภิวัตน์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2555)

 

Since 25 December 2012