นานาสาระประชากร
เรื่องนี้ เขียนก่อนขึ้นปีใหม่
ปราโมทย์ ประสาทกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ตั้งชื่อเรื่องไว้ก่อนที่จะลงมือเขียนเรื่องนี้ว่า “เรื่องนี้ เขียนก่อนขึ้นปีใหม่” เพราะขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกตั้งเดือนกว่าก็จะสิ้นปี 2557 เรากำลังย่างเข้าสู่ปีใหม่ พ.ศ. 2558 ปีมะเมียม้ากำลังควบจากไป มะแมแพะกำลังวิ่งใกล้เข้ามาทุกที เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับผม ซึ่งอาจเรียกทุกคนว่าเป็น “ผู้สูงอายุ” ได้อย่างเต็มปาก มักจะรำพึงรำพันด้วยความรู้สึกคล้ายๆ กันว่า “เดี๋ยวนี้ วันเวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน”
และเมื่อถึงเวลานี้ กลางเดือนพฤศจิกายน ผมก็ต้องพูดกับตัวเองว่า “จะปีใหม่อีกแล้วหรือนี่ ... เร็วจัง”
งานชุมนุมรุ่นของผู้สูงอายุ
ผมมีงานชุมนุมเพื่อนร่วมรุ่นอยู่สองงาน งานหนึ่งเป็นของเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่ชั้นมัธยม เราเข้าเรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์พร้อมกันตั้งแต่ปีการศึกษา 2503 เท่ากับเราเป็นเพื่อนกันมานานถึง 54 ปีแล้ว อีกงานหนึ่งเป็นการชุมนุมเพื่อนที่เข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นสิงห์ดำรุ่น 19 พร้อมกันในปี 2509 ก็เท่ากับเพื่อนกลุ่มนี้รู้จักกันมา 48 ปีกว่าแล้ว ในปีนี้ งานชุมนุมเพื่อนเทพศิรินทร์จัดไปแล้วเมื่อกลางเดือนตุลาคม และงานเพื่อนสิงห์ดำ รุ่น 19 จะจัดชุมนุมรุ่นกลางเดือนธันวาคม มีเหตุบังเอิญว่างานชุมนุมรุ่นของเพื่อนทั้งสองกลุ่มไปหยิบเอาบทกลอนชื่อ “ถึงเพื่อน” ที่ไม่ปรากฏนามผู้ประพันธ์บทเดียวกันมากระตุ้นเชิญชวนเพื่อนๆ ให้ไปร่วมงาน ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมเห็นกลอนบทนี้เผยแพร่อยู่ในเฟซบุ๊คด้วย แม้จะไม่รู้ว่าใครแต่ง แต่ผมก็มั่นใจว่าผู้แต่งต้องเป็นผู้สูงอายุ ลองอ่านดูนะครับ...
กลอน “ถึงเพื่อน”
เวลาผ่าน นานกว่า เวลาที่เหลือ เพื่อนอย่าเบื่อ อย่าเกี่ยง เลี้ยงสังสรรค์ เวลาที่พบ เหลือน้อย คล้อยทุกวัน อย่ารอวัน เดินไม่ไหว ใจอยากมา นับถอยหลัง สังสรรค์ใหม่ จะไปแน่ ขอเพียงแค่ ปีนี้ จะดีกว่า สังขารเรา ร่วงโรย ทุกเวลา อย่ารอรี มาไม่มา?? อาจช้าไป นับถอยหลัง วังเวง เพลงใกล้จบ รีบไปพบ กันสักครั้ง ยังไม่สาย เพื่อนร่วมรุ่น รวมตัว ด้วยหัวใจ ก่อนสุดท้าย ตายจากลา ค่อยมากัน. |
ผมขอแสดงความชื่นชมผู้แต่งกลอนบทนี้ ผู้แต่งสะท้อนภาพความเป็นจริงของคนรุ่นผม ซึ่งนับว่าเป็นผู้สูงอายุวัยต้นๆ ผู้สูงอายุวัยต้นนี้ยังกระตือรือร้นที่จะจัดงานชุมนุมรุ่น โดยหวังจะเห็นเพื่อนมาร่วมงานกันมากที่สุด แต่พวกเราก็จะมีปัญหาคล้ายๆ กัน คือเพื่อนที่มาก็จะมาประจำ คนที่ไม่มาก็จะไม่มาเลย กลอน “ถึงเพื่อน” จี้ตรงใจคนรุ่นผมว่าให้มาพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในปีนี้กันเถอะ เวลาที่เพื่อนจะมาพบเพื่อนเหลือน้อยลงทุกทีแล้ว สังขารคนวัยเราก็ร่วงโรยลงทุกที ถ้าไม่มาวันนี้ วันหน้า แม้อยากพบเพื่อนแต่ก็อาจมาไม่ได้เพราะสังขารไม่อำนวยให้เสียแล้ว ฉะนั้น เพื่อนๆจงตัดสินใจมางานชุมนุมรุ่นในปีนี้กันเถิด อย่ารีรอลังเลเลย
ความจริง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาในโรงเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย จะมีเพื่อนอยู่ส่วนหนึ่งไม่เห็นความสำคัญของการชุมนุมสังสรรค์ ตั้งแต่จบการศึกษามาแล้ว ก็อาจไม่เคยมางานชุมนุมพบปะเพื่อนร่วมรุ่นเลย เพื่อนเหล่านี้จะคุ้นชินกับการไม่มาร่วมงาน จนอาจนึกไม่ออกว่ามางานชุมนุมรุ่นแล้วจะวางตัวอย่างไร จะจำเพื่อนได้ไหม หรือเพื่อนๆ จะจำตัวเองได้หรือเปล่า เขาอาจดำเนินชีวิตไปได้โดยไม่จำเป็นต้องพบปะสัมพันธ์กับเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน หรืออาจรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทเพียงบางคน เขาอาจมีคำถามว่า ทำไมเขาจะต้องมาพบเพื่อนๆ ทั้งรุ่น ที่บางคนเมื่อตอนที่เรียนอยู่สถาบันการศึกษาเดียวกันก็ไม่เคยพูดกันเลย และเดี๋ยวนี้ ถ้าพบกันก็ยังจำชื่อกันไม่ได้ด้วยซ้ำ
งานชุมนุมรุ่นเพื่อนที่เรียนชั้นมัธยมมาด้วยกัน
เรื่องจำชื่อเพื่อนไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผมมาก เวลาไปชุมนุมรุ่นนักเรียนชั้นมัธยม ต้องแอบถามเพื่อนสนิทบางคนว่า ไอ้หมอนั่นชื่ออะไร ไอ้คนโน้นชื่ออะไร ในขณะเดียวกันก็มีเพื่อนบางคนแอบมากระซิบถามผมว่าคนนั้น คนนี้ ชื่ออะไร รุ่นเพื่อนชั้นมัธยมของผมมีอายุระหว่าง 66-70 ปี ผมอยู่ในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยในรุ่น เพื่อนที่อายุมากๆ เกิด พ.ศ. 2487 ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่เลิก
นอกจากอายุที่แตกต่างกันหลายปีแล้ว ความหนุ่มแก่ที่ดูจากสรีระร่างกายของเพื่อนๆ ก็ดูแตกต่างกันมากด้วย สมัยก่อน ตอนที่เราเรียนอยู่ด้วยกัน พวกเราไม่ว่าจะอายุห่างกันเท่าไร แต่เราก็ดูเหมือนเป็นเด็กในวัยเดียวกัน แม้บางคนจะหน้าตาท่าทางแก่มากกว่าคนอื่น จนเพื่อนๆ ตั้งสมญานามว่า “ไอ้แก่” ก็ตาม มาถึงวันนี้ เมื่อไปร่วมงานชุมนุมรุ่น ผมสังเกตว่าเพื่อนหลายคนยังดูเป็นหนุ่มอย่างไม่น่าเชื่อ หลายคนมีหน้าตาที่พวกเราเรียกว่า ‘หน้าเด็ก’ แต่หลายคนก็ดูแก่อย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน สำหรับเพื่อนที่ดูแก่มากๆ ผมก็อดคิดถามอยู่ในใจไม่ได้ “ทำไมเพื่อนเรามันดูแก่ (หง่อม) กันถึงขนาดนี้ (วะ)” เพื่อนบางคนเริ่มเดินกระย่องกระแย่ง บางคนฟันหายไปหลายซี่ บางคนศีรษะล้าน หลายคนผมหงอกขาวโพลน รวมทั้งผม (ข้าพเจ้า) ด้วย แต่สำหรับผม (ข้าพเจ้า) ที่ผมหงอกขาวมาหลายปีแล้ว
ได้บอกกับเพื่อนๆ ไปว่า “ที่หัวขาวนี่ (ฉัน) ตั้งใจย้อมขาวนะ ย้อมขาวเพื่อให้ดูอาวุโสสมวัย” ลองนึกดูนะครับ ชุมนุมเพื่อนที่อยู่ในวัยสูงอายุด้วยกัน เพื่อนๆ ล้วนแก่ตัวลง หลายคนจำชื่อกันไม่ได้ เรียกกันก็ไม่ค่อยจะถูก เอะอะมึงมาพาโวยกันไปตามประสาคนที่เคยมีประสบการณ์วัยเด็กร่วมกันมา ก็ได้บรรยากาศที่สนุกกันไปอีกแบบ
เพื่อนร่วมรุ่นในสังคมออนไลน์
สำหรับเพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยของผมมีทั้งเพื่อนหญิงเพื่อนชาย ต่างจากเพื่อนโรงเรียนมัธยมที่มีแต่ผู้ชายล้วน บรรยากาศงานชุมนุมจึงแตกต่างกันอยู่บ้าง เพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยหลายคนพบปะเจอะเจอกันอยู่เสมอในสังคมออนไลน์ เรามีเฟซบุ๊คหรือไลน์ที่จัดทำไว้สำหรับกลุ่มเพื่อน และขยายวงออกไปยังเพื่อนพี่น้องนอกกลุ่มด้วย หลายคนติดต่อกันด้วย “ไลน์” เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารกันทางอินเทอร์เน็ตก้าวหน้าไปมากจริงๆ เมื่อไม่ถึงสิบปีก่อน สิ่งที่เราไม่เคยคิดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้ก็เกิดขึ้นแล้ว เดี๋ยวนี้ เราชุมนุมสังสรรค์กันได้ทุกวันเวลา ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ถ้าอยากให้เพื่อนรู้ ก็นำเสนอผ่านทางเฟซบุ๊คหรือไลน์ ไปเที่ยวที่ไหน พบเห็นอะไร กินอะไร ก็นำมาแชร์ “แบ่งปัน” หรือไลน์ไปบอกกล่าวให้เพื่อนๆ ได้รู้
ผมเองชอบติดตามดูรูปและเรื่องที่เพื่อนไปเที่ยวมาแล้วเขียนเล่าในเฟซบุ๊ค เดี๋ยวนี้การถ่ายรูปทำได้ง่าย ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปก็ได้ ไม่ต้องใช้ฟิล์ม ไม่ต้องไปล้างอัดรูป ถ่ายแล้วก็ส่งรูปพร้อมข้อความบรรยายเรื่องด้วยโทรศัพท์เครื่องเดียวกัน ผมต้องขอบคุณเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ส่งเรื่องและรูปมาให้พวกเราได้รู้ได้เห็นเหมือนได้ไปเที่ยวด้วยกัน เราไม่ต้องเสียเวลา และเสียสตางค์เดินทางไปด้วยตนเอง
เพื่อนรุ่นผมเล่นเฟซบุ๊ค/ไลน์กันหลายสิบคน พวกเราพบกันทุกวัน ผมชักสงสัยว่าเฟซบุ๊ค/ไลน์นี้จะเรียกว่าเป็น “สิ่งเสพติด” ได้หรือไม่ ผมสังเกตว่าเพื่อนบางคนเหมือนจ้องอยู่หน้าจอ คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ค หรือคอยฟังสัญญาณจากโทรศัพท์อัจฉริยะ (สมาร์ทโฟน) ใครส่งข้อความอะไรไป ก็จะโต้ตอบทันที ด้วยการกดไล้ค์หรือคอมเม้นท์สวนมาทันควัน หลายคนเมื่อส่งข้อความหรือรูปผ่านไปทางเฟซบุ๊ค/ไลน์ ก็ใจจดใจจ่อรอดูว่าจะมีใครเข้ามาอ่านแล้วกดไล้ค์ หรือคอมเม้นท์เรื่องของตนบ้าง ทราบว่าเพื่อนบางคนตื่นมาตอนเช้า สิ่งแรกที่ทำคือ เช็คข้อความในอินเทอร์เน็ต และสิ่งสุดท้ายที่ทำก่อนนอนก็คือดูข้อความในอินเทอร์เน็ตเช่นกัน
เพื่อนรุ่นวัยเดียวกันกับผมจำนวนหลายสิบคนเล่นเฟซบุ๊ค/ไลน์เป็นงานอดิเรก หลายคนติดต่อกับเพื่อนหรือใครต่อใครทางไลน์ และหลายคนก็ติดเกมส์คอมพิวเตอร์จนงอมแงม ผมอยากจะบอกว่าการเข้าสังคมออนไลน์ด้วยการเล่นเฟซบุ๊ค/ ไลน์ ติดตามการซุบซิบนินทากันทางโซเชียลมีเดีย และการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ เหล่านี้ นับเป็นการฆ่าเวลาอย่างเลือดเย็นทีเดียว ใครจะว่าการฆ่าเวลาอย่างนี้เป็นบาปมากน้อยอย่างไรก็ตาม ในนามของผู้สูงอายุจำนวนมาก ผมขอแสดงความขอบคุณเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้พวกเราเข้าไปอยู่ในสังคมออนไลน์ ได้อย่างมีความสุข พบปะสังสรรค์กันได้ทุกวันเวลาโดยไม่ต้องออกจากบ้าน
โทรศัพท์สมัยใหม่ในสังคมออนไลน์
เดี๋ยวนี้ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของเราไปเสียแล้ว การเข้าสังคมออนไลน์ต้องมีสมาร์ทโฟน (ซึ่งผมชอบเรียกว่าเป็นโทรศัพท์อัจฉริยะ) หรือไอแผด หรือโน้ตบุ๊ค เป็นเครื่องมือสำคัญ โทรศัพท์อัจฉริยะหรือสมาร์ทโฟนนี่ไม่น่าจะเรียกว่าโทรศัพท์ ที่จริงมันเป็นคอมพิวเตอร์ยอดอัจฉริยะขนาดพกพาที่สามารถทำอะไรได้สารพัด ผมมองดูโทรศัพท์ในมือแล้ว ก็ต้องรำพึงว่า “ทำไมเจ้าถึงได้เฉลียวฉลาดเก่งกาจขนาดนี้”
โทรศัพท์สมัยใหม่ก้าวหน้าไปเร็วเหลือเกิน จนบางครั้ง ผมรู้สึกกลัวว่าจะตามไม่ทัน โทรศัพท์สมัยนี้เป็นคนละเรื่องกับโทรศัพท์ที่ผมรู้จักเมื่อตอนเด็กๆ จำได้ว่าเคยพูดกันเล่นๆในวงสนทนาเมื่อ 20-30 ปีก่อนว่า น่าจะมีโทรศัพท์ที่พูดกันแล้วเห็นตัวกันด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้โทรศัพท์ก็เป็นเช่นนั้นแล้ว พูดกันทางโทรศัพท์และเห็นตัวกัน ประชุมพร้อมๆ กันทางโทรศัพท์ หลายๆ คนก็ได้
ผมพูดถึงความก้าวหน้าของโทรศัพท์ขึ้นมา เพราะคิดว่าในอนาคต คนรุ่นใหม่เขาอาจไม่ต้องมีการชุมนุมรุ่น/เพื่อน ด้วยการเชิญชวนให้เพื่อนๆ มาสังสรรค์กันในสถานที่แห่งหนึ่ง ณ วันเวลาใดเวลาหนึ่ง สังคมเพื่อนจะกลายเป็นสังคมออนไลน์ คือ เพื่อนๆ สามารถติดต่อพูดคุย หยอกล้อ นินทากันได้ตลอดเวลา เพื่อนรุ่นเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน เพียงมีโทรศัพท์อัจฉริยะคนละเครื่อง ก็ชุมนุมสังสรรค์เพื่อนร่วมรุ่นได้แล้ว
อ้อ ! ชุมนุมเพื่อนรุ่นผมเมื่อกลางเดือนธันวาคม มีรายการทำบุญเลี้ยงพระ อุทิศส่วนกุศลให้เพื่อนผู้ล่วงลับด้วย ในอนาคต จะทำบุญกรวดน้ำผ่านทางอินเทอร์เน็ตจะได้ไหมหนอ ....