รางวัลอีกโนเบล

แมวและสุนัข

วรชัย ทองไทย  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เราสามารถแบ่งสัตว์ออกเป็น 2 ประเภท คือ สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติหรือสัตว์ป่า และสัตว์ที่อาศัยอยู่กับมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง โดยสัตว์เลี้ยงอาจเป็นสัตว์ป่า ที่ถูกจับมาทำให้เชื่อง หรือเป็นลูกหลานของสัตว์เลี้ยงก็ได้

สัตว์เลี้ยงยังแบ่งได้ตามจุดประสงค์ของการใช้สอย ได้แก่ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร เช่น หมู ไก่ เป็ด เป็นต้น สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อให้เป็นเพื่อนหรือเพื่อดูเล่น เช่น แมว หมา ปลาตู้ กระต่าย เป็นต้น

สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนหรือเพื่อดูเล่นนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “pet” ซึ่งไม่มีคำแปลภาษาไทยโดยเฉพาะ ดังนั้น ต่อจากนี้ไป คำว่า “สัตว์เลี้ยง” จะหมายถึง “pet”

ผู้ที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่า ตนเองมีความเพลินใจที่มีสัตว์เป็นเพื่อน แต่ส่วนมากจะไม่รู้ถึงคุณประโยชน์ ที่มีต่อร่างกายและจิตใจ อันเป็นผลมาจากการได้เล่นหรือสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง

จากผลการศึกษาถึงประโยชน์ของความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยง พบว่า ระหว่างเจ้าของสัตว์เลี้ยงกับผู้ไม่มีสัตว์เลี้ยงนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเครียดน้อยกว่า มีความดันโลหิตต่ำกว่าเมื่อเกิดความเครียด และมีโอกาสรอดชีวิตจากหัวใจล้มเหลวมากกว่า ทั้งนี้เพราะสัตว์เลี้ยงจะช่วยให้เจ้าของรู้สึกผ่อนคลาย ด้วยการลดความเครียดของกล้ามเนื้อและการเต้นของหัวใจลง

นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงยังมีผลทำให้เจ้าของหายเหงา มีความเครียดน้อยลง มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น รวมถึงได้ออกกำลังกาย และสันทนาการเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้น สัตว์เลี้ยงยังให้ทั้งความรักและบูชาต่อเจ้าของ อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งทำให้เจ้าของมีชีวิตยืนยาวขึ้น

สัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก คือ แมว รองลงไปคือ สุนัข ปลาตู้ สัตว์ขนปุยขนาดเล็ก (หนูตะเภา กระต่าย) และนก ตามลำดับ

เหตุที่แมวได้รับความนิยมสูงสุด เพราะแมวเป็นสัตว์ที่ทั้งน่าพิศวาสและพึ่งตัวเอง แมวเกือบจะไม่ต้องสอนให้ถ่ายให้เป็นที่ (โดยมีกะบะใส่ทรายไว้ให้ถ่าย) แมวจะทำความสะอาดตัวเอง และสามารถปล่อยให้อยู่ในบ้านได้ตามลำพัง ในขณะที่สุนัขต้องใช้เวลานานเพื่อสอนให้ถ่าย ต้องอาบน้ำให้เป็นครั้งคราว และต้องการออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน ทำให้เจ้าของต้องเป็นภาระคอยอยู่ดูแล ดังนั้น การเลี้ยงแมวจึงสะดวกกว่าการเลี้ยงสุนัข

อย่างไรก็ตาม การสอนให้แมวทำตามคำสั่ง จะทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย ในขณะที่สุนัขจะเรียนรู้ได้เร็ว โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที  ก็สามารถเรียนรู้คำสั่ง เช่น นั่งลง มานี่ เป็นต้น แต่สุนัขกลับมีความจำสั้น เพียง 5 นาที เท่านั้น ส่วนแมวมีความจำที่นานถึง 16 ชั่วโมง

แมวชอบอยู่ตามลำพัง จึงมีบุคลิกที่ห่างเหินและลึกลับ ไม่เหมือนสุนัขที่เป็นสัตว์สังคม และชอบอยู่ร่วมกับฝูง จึงมีบุคลิกเปิดเผย ซื่อสัตย์ และเชื่อฟังแมวไทยที่รู้จักทั่วโลกมีชื่อว่า แมวสยาม (Siamese Cat) ซึ่งก็คือ แมววิเชียรมาศ ที่รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานคู่หนึ่งให้แก่ กงสุลอังกฤษ โดยแมวไทยคู่นี้ชนะการประกวดแมวที่กรุงลอนดอน ทำให้ชาวอังกฤษนิยมเลี้ยงแมวไทย และในที่สุดก็แพร่หลายไปทั่วโลก

แมววิเชียรมาศ มีขนสั้นสีขาว และมีแต้มสีน้ำตาลไหม้ 9 แห่ง คือ ที่จมูกครอบไปถึงปาก ที่ขาทั้งสี่ ที่หูทั้งสอง ที่หางหนึ่ง และที่อวัยวะเพศ (ทั้งแมวตัวผู้และตัวเมีย) (ดูรูป 1)

สำหรับสุนัขไทยที่รู้จักทั่วไปคือ สุนัขไทยหลังอาน (Thai Ridgeback) ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์พื้นเมือง มีขนาดกลาง ขนสั้นเรียบสีเดียวทั้งตัว หูตั้งเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายจมูกสีดำและปากรูปลิ่ม หางเรียวยาวเป็นรูปดาบ ลักษณะเด่น คือ มีอานซึ่งเกิดจากขนขึ้นในแนวย้อนกับแนวขนปกติอยู่บนหลัง สีที่นิยมคือ สีน้ำตาลแดง สีแดง สีดำ และสีสวาด (ดูรูป 2)

เพราะแมวและสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมกันมาก รางวัลอีกโนเบล ปีล่าสุด (ค.ศ. 2014) จึงได้พิจารณาให้รางวัลแก่ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแมวและสุนัข คือ

สาขาสาธารณสุข มอบให้แก่นักวิจัยจากประเทศสาธารณรัฐเช็ค ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอินเดีย (Jaroslav Flegr, Jan Havlicek, Jitka Hanusova-Lindova, David Hanauer, Naren Ramakrishnan และ Lisa Seyfried) ที่ได้ศึกษาวิจัยว่า การเลี้ยงแมวจะส่งผลทำให้คนเลี้ยงเป็นโรคจิตหรือไม่

สาขาชีววิทยา มอบให้แก่นักวิจัยจากประเทศสาธารณรัฐเช็ค เยอรมัน และแซมเบีย (Vlastimil Hart, Petra Novakova, Erich Pascal Malkemper, Sabine Begall, Vladimir Hanzal, Milos Jezek, Tomas Kusta, Veronika Nemcova, Jana Adamkova, Katerina Benediktova, Jaroslav Cerveny และ Hynek Burda) ในผลงานวิจัยที่สรุปว่า ก่อนที่สุนัขจะถ่ายหนักหรือถ่ายเบา สุนัขจะพยายามหันตัวให้ได้มุมกับสนามแม่เหล็กโลก

 

รางวัลอีกโนเบล:   รางวัลสำหรับงานวิจัย “ที่ทำให้หัวเราะก่อนคิด”

 

Since 25 December 2012