ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ

บีเอ็มดับบลิวได้อะไร จากการปรับปรุงที่ทำงานให้พนักงานสูงวัย

มนสิการ กาญจนะจิตรา  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ตอนนี้สังคมไทยเริ่มตื่นตัวกับการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุกันบ้างแล้ว ผู้คนในหลากหลายแวดวงเริ่มพูดคุยถึง
ผลกระทบและแนวทางการรับมือกับปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางประชากรครั้งสำคัญครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ ทิ่เริ่มเกิดความวิตกว่าการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุในที่ทำงาน อาจจะส่งผลลบต่อการเติบโตของธุรกิจ

ถึงแม้ว่าการสูงอายุของประชากรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะหลีกเลี่ยงผลลบที่อาจเกิดขึ้นจากการมีกำลังแรงงานสูงอายุไม่ได้ หากธุรกิจมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับกำลังแรงงานที่สูงวัยขึ้น ผลที่ได้อาจดีเกินคาด ดังเช่นตัวอย่างธุรกิจที่จะนำมาเล่าในวันนี้

บริษัทบีเอ็มดับบลิว ผู้ผลิตรถยนต์หรูชั้นนำของโลก เป็นบริษัทที่ได้รับการกล่าวขานถึงการรับมือต่อการสูงวัยของพนักงานในบริษัทเป็นอย่างดี บริษัทเล็งเห็นว่าพนักงานของบริษัท นับวันจะมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบริษัท โดยเฉพาะในด้านการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทจึงวางแผนปรับปรุงโรงงานการผลิต เพื่อรองรับการสูงวัยของพนักงาน

การเปลี่ยนแปลงของบีเอ็มดับบลิวนั้นเริ่มต้นจากการพูดคุยกับพนักงานในสายการผลิตโดยตรง เพื่อเข้าใจปัญหาในการทำงานอย่างแท้จริง และให้พนักงานเป็นผู้เสนอแนะสิ่งที่บริษัทควรปรับปรุง ซึ่งปรากฏว่า ข้อเสนอแนะจากพนักงานแต่ละข้อทำได้ไม่ยากเลย บริษัทบีเอ็มดับบลิวจึงลงมือริเริ่มโครงการนำร่อง โดยเลือกสายการผลิตหนึ่งมาเพื่อปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของพนักงาน และชักชวนให้พนักงานสูงวัยมาทดลองทำงานที่สายการผลิตนี้เป็นเวลาหนึ่งปี

การเปลี่ยนแปลงของสายผลิตนำร่องนี้ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนพื้นในบริเวณนั้นให้เป็นพื้นไม้ เพราะการเดินบนพื้นไม้ดีต่อข้อต่อมากกว่าการเดินบนพื้นกระเบื้องหรือพื้นคอนกรีต และเมื่อประกอบกับการให้สวมใส่รองเท้าแบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในการรองรับน้ำหนักเป็นพิเศษ ก็ส่งผลให้พนักงานในสายการผลิตนี้มีปัญหาการปวดเข่าจากการเดินทั้งวันน้อยลง

นอกจากนี้ พนักงานต้องการทำงานในอริยาบถที่สบายขึ้น ไม่ต้องก้มหรือย่อมากเกินไป ทางบริษัทจึงเอาใจใส่กับโต๊ะและเก้าอี้ทำงานมากขึ้น โดยบริษัทจัดหาซื้อเก้าอี้ชุดใหม่ที่นั่งสบายขึ้น พร้อมกับโต๊ะทำงานที่สามารถปรับระดับความสูงให้เหมาะสมกับการทำงานได้ นอกจากนั้น ยังสนับสนุนให้มีการหมุนเวียนงานในสายการผลิต เพื่อลดการต้องทำงานในท่วงท่าซ้ำๆ เหมือนเดิมทุกวัน

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่บริษัทบีเอ็มดับบลิวได้ลงทุนในสายการผลิตนี้ ได้แก่ การเพิ่มแว่นขยาย การเพิ่มขนาดตัวอักษรในจอคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เพื่อลดอาการปวดตาจากการต้องเพ่งและโอกาสการทำงานผิดพลาด ตลอดจนได้เพิ่มขนาดมือจับของเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เพื่อบรรเทาการเกร็งของมือในการใช้อุปกรณ์ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

รวมทั้งสิ้นแล้ว บริษัทบีเอ็มดับบลิวทำการเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 70 รายการในสายการผลิตนำร่องนี้ โดยที่ค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ต่างๆ ในสายการผลิตดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 20,000 ยูโร หรือเกือบ 800,000 บาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนเล็กน้อยมากสำหรับบริษัทขนาดใหญ่อย่างบีเอ็มดับบลิว

ผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ พนักงานทำงานง่ายขึ้น มีอาการปวดเมื่อยน้อยลง และเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานน้อยลง เมื่อครบหนึ่งปีของโครงการนำร่องนี้ ไม่มีใครอยากย้ายสายการผลิตเลย ทุกคนชอบที่จะอยู่สายการผลิตแห่งนี้ ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่มีใครอยากย้ายมาเลย

ที่สำคัญที่สุดคือ สายการผลิตนี้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ภายในหนึ่งปีแรกของการดำเนินงาน และการลาป่วยค่อยๆ ลดลงจนกระทั่งเหลือเพียงร้อยละ 2 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโรงงาน ทั้งๆ ที่พนักงานในสายการผลิตนี้มีอายุโดยเฉลี่ยสูงกว่าสายผลิตอื่นๆ ในโรงงานทั้งหมด

สายการผลิตนำร่องนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง บีเอ็มดับบลิวจึงวางแผนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตอื่นๆ ในโรงงานอีกหลายแห่งของบริษัทเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอายุพนักงานต่อไป

ประเทศไทยในฐานะที่กำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของบีเอ็มดับบลิว ซึ่งบทเรียนหนึ่งที่สำคัญ คือ การปรับปรุงที่ทำงานให้เหมาะสมกับการทำงานของคนสูงวัยไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมาย และการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย สามารถส่งผลดีต่อทั้งการเติบโตของธุรกิจและคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานสูงวัย 

 


อ้างอิง

Loch, C.H., Sting, S.J., Bauer, N. & Mauermann, H. (2010). How BMW is defusing the demographic time bomb. Harvard            Business Review, 3.10, 99-102.

Since 25 December 2012