นานาสาระจากห้องสมุด

“การสร้างความสุขในผู้สูงอายุ” ตอน 1

เพ็ญพิมล คงมนต์  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

เมื่อผู้เขียนได้อ่านบทความนี้ ทำให้นึกถึงสิ่งที่ผู้สูงอายุควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลานเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ วิธีการที่ผู้สูงอายุจะสร้างความสุขให้ตนเองนั้นเริ่มจากตัวเองก่อน ดังต่อไปนี้

1.  การปรับตัวของผู้สูงอายุ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายที่ผู้สูงอายุและครอบครัวต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ จึงเป็นที่มาของความเครียด อาการซึมเศร้าและการไม่มีความสุข  สิ่งที่ผู้สูงอายุจะต้องทำ คือ การปรับตัวทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความคิด อารมณ์ และสภาพความเป็นอยู่ของตนเอง โดยเริ่มจากการปรับใจของตนเองให้ได้ ด้วยการเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งของตนเองและสิ่งใหม่ๆ ในสังคม พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว เพื่อนฝูง ชุมชนหรือสังคม ก็จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

2. การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องหมั่นไปตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ระมัดระวังและป้องกันไม่ให้ตนเองเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ หมั่นออกกำลังกายทุกวันหรือสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละประมาณ 20-30 นาที รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอยู่ในที่ มีอากาศถ่ายเทได้ดี และต้องหมั่นดูแลสุขภาพจิตของตนเอง โดยทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ ไม่ให้เกิดความเครียด หงุดหงิด ฉุนเฉียว ด้วยการหากิจกรรมที่ทำให้ตนเองได้พักผ่อนหย่อนใจ

3. การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การทำกิจกรรมต่างๆ การทำงานอดิเรกต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของตนเอง เช่น การปลูกต้นไม้ การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การเล่นดนตรี การฟังเพลง การสวดมนต์ การเขียนหนังสือ การอ่านหนังสือ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เพื่อคลายเหงา เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ มีความสุข ได้รายได้เพิ่มขึ้น แถมยังเกิดประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมอีกด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ

4. การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย การดำเนินชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย เป็นวิถีชีวิตที่จะพาไปสู่ความสุข กินง่าย อยู่ง่าย ดำรงชีวิตอยู่บนความพอเพียง ใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามแต่สถานภาพของแต่ละบุคคล และหาความสุขจากสิ่งใกล้ตัวที่มีอยู่ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุ
มีความสุข

5. การสร้างอารมณ์ขัน การสร้างอารมณ์ขันเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่ผู้สูงอายุได้หัวเราะและยิ้มจากใจจริงๆ ในแต่ละครั้งเป็นสิ่งที่
บ่งบอกถึงความสุขที่เกิดขึ้น ทำให้จิตใจและอารมณ์ของผู้สูงอายุดีขึ้น ช่วยทำให้อายุยืนยาว มีสัมพันธภาพที่ดีกับลูกหลานและคนใกล้ชิด การหัวเราะจึงเป็นพลังหรือยาวิเศษที่ช่วยให้คนมีความสุขและมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เช่น ละครตลก อ่านหนังสือที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน เข้าไปพูดคุยหรืออยู่ในกลุ่มหรือสภาพแวดล้อมที่มีคนชอบพูดหรือเล่าเรื่องตลก เพื่อทำให้คนอื่นและตนเองได้หัวเราะและมีความสุข ตลอดจนฝึกยิ้มและหัวเราะทุกครั้งเมื่อมีโอกาส แต่ทั้งนี้ต้องเหมาะสมตามสถานการณ์และอยู่บนความพอดี

 


ที่มา : พรทิพย์ เกยุรานนท์. “การสร้างความสุขในผู้สูงอายุ” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.stou.ac.th/stoukc/elder/main1_9.html
        (9 มกราคม 2558)

 

Since 25 December 2012