ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ
“มนุษย์ป้า” กับวัฒนธรรมต่างวัย
มนสิการ กาญจนะจิตรา manasigan.kan@mahidol.ac.th
หัวข้อที่กำลังเป็นที่แพร่หลายในสังคมออนไลน์ และในวงสนทนาหลากหลายกลุ่มในช่วงนี้คงไม่พ้นเรื่อง “มนุษย์ป้า” จากการติดตามเพจและกระทู้ต่างๆ ออนไลน์ และการพูดคุยกับกลุ่มเพื่อน ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์ “มนุษย์ป้า” กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมไทย
นิยาม “มนุษย์ป้า” ในเพจหนึ่งในเฟสบุ๊ค (http://www.facebook.com/KhunPaaaa) กล่าวไว้อย่างสั้นๆ แต่เจ็บแสบว่าเป็น “ชาติพันธุ์ที่เป็นอมตะ และตายยากที่สุด” ตรงกับนิยามที่แพร่หลายในแวดวงสังคมออนไลน์ ว่า “มนุษย์ป้า” เป็นผู้ที่ถูกเสมออยู่เหนือทุกสิ่ง อยากทำอะไรต้องได้ทำ ใครเดือดร้อนไม่สนใจ ตัวอย่างเรื่องราวที่นำมาแชร์กันในวงนินทา “มนุษย์ป้า” ได้แก่ การแซงคิว การแย่งที่จอดรถ การโวยวายเสียงดังเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของตน การแย่งชิงของโดยเฉพาะของลดแลกแจกแถม และพฤติกรรมที่แสดงถึงความไม่เกรงใจคนอื่น เป็นต้น
ปรากฏการณ์ “มนุษย์ป้า” เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องเข้าใจก่อนว่าพฤติกรรมของคน เป็นผลพวงของสังคม ดังที่ Hara Shintaro อาจารย์ชาวญี่ปุ่น ได้เขียนในเฟสบุ๊คตัวเองเกี่ยวกับวัฒนธรรมการต่อแถวในประเทศญี่ปุ่น ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก ใครที่แซงคิวผู้อื่นจะถูกมองว่าเป็นคนไม่มีคุณค่า เห็นแก่ตัว ไม่เกรงใจคนอื่น ดังนั้น ในญี่ปุ่นจึงแทบไม่มีการแซงคิวเลย เพราะสังคมให้คุณค่ากับการเคารพสิทธิ์ผู้อื่น
ประเทศไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมอย่างประเทศญี่ปุ่น จากประสบการณ์ส่วนตัว เพิ่งเริ่มเห็นการเข้าคิวขึ้นรถสาธารณะมาไม่นานนี้เอง คือการเข้าคิวขึ้นรถไฟฟ้า แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นการเข้าคิวขึ้นรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่หรือรถประจำทางก็ตาม การเข้าคิวจึงยังถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ในสังคมไทย ยังไม่ได้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในทุกกลุ่มทุกพื้นที่
ที่จริงแล้ว สังคมไทยแต่ดั้งเดิม เป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับได้กับการให้สิทธิคนบางกลุ่มเป็นพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีตำแหน่งสูง หรือมีฐานะดี ด้วยสังคมที่ให้คุณค่ากับความเอื้อเฟื้อ ถ้อยทีถ้อยอาศัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ป้าจะแซงคิวและหันมาบอกว่า “ให้ป้าไปก่อนเถอะ ป้าแก่แล้ว” เพราะนี่คือพฤติกรรมที่สังคมไทยยอมรับได้มาเนิ่นนาน แต่ในเมื่อปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มคนที่ให้คุณค่ากับวัฒนธรรมการเข้าคิวมากขึ้น ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างคนต่างรุ่นต่างความคิด
ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า “มนุษย์ป้า” ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นสตรีวัยกลางคน แต่หมายถึงใครก็ได้ที่มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ไม่ได้จำกัดเพศหรือวัย แต่การใช้คำว่า “ป้า” เป็นตัวแทนของพฤติกรรมที่สังคมรังเกียจ คงหนีไม่พ้นการสร้าง “วยาคติ” หรืออคติแห่งวัยไปได้ และจะเป็นการยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างวัยในสังคมไทยได้
หากเราต้องการร่วมสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัย ต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องใช้เวลา กว่าประเทศญี่ปุ่นจะมาถึงจุดนี้ที่คนในชาติมีวินัยและเคารพสิทธิของผู้อื่นได้ ญี่ปุ่นต้องผ่านกระบวนการสร้างสังคมมาอย่างยาวนาน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน กระบวนการในการสร้างสังคมนี้สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่นประเทศจีน ปัจจุบันเกิดคนชนชั้นกลางและเศรษฐีใหม่จำนวนมากที่ไม่รู้มารยาทสังคม จึงมีคอร์สฝึกฝนมารยาทเกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อสอนทักษะการวางตัวในสังคมให้เหมาะสม ตั้งแต่เรื่องการแต่งตัว การรับประทานอาหาร ไปจนกระทั่งการเลือกหัวข้อเพื่อพูดคุยกับผู้อื่นในสังคม ส่วนวิธีใดที่จะเหมาะกับประเทศไทยนั้น คงต้องศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมไทยให้ลึกซึ้ง แต่ตอนนี้ เราเริ่มจากการนินทาเหล่าคุณป้าให้น้อยลงกันดีกว่าค่ะ
“มนุษย์ป้า” สร้างทางด่วนพิเศษเพื่อแซงคิวขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน
ภาพจาก women.sanook.com