การจดทะเบียนเป็นจริงเริ่มต้นใน  พ.ศ. 2539 โดยการมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดทำกรอบการจดทะเบียนตามกฎหมายของแรงงานเหล่านี้เป็นรายปี  โดยแรงงานข้ามชาติได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ชั่วคราวในระหว่างการรอถูกส่งกลับประเทศ แต่ในทางปฏิบัตินั้น  การอนุญาตชั่วคราวถูกขยายเวลามาตลอดทุกปี   เนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง แรงงานกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทย  ปัจจุบัน แบ่งออกเป็นสี่กลุ่มย่อยคือ

           (1) แรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียน  มักเรียกว่า “กลุ่มผ่อนผัน” หมายถึงแรงงานที่จดทะเบียนเพื่อได้สิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว  (ทร. 38/1) และได้รับหมายเลขประจำตัวประชาชน  13 หลักจากกระทรวงมหาดไทยโดยเริ่มที่หมายเลข 00 แรงงานเหล่านี้จะต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อน จึงจะขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานได้  โดยได้รับหลักฐานจากหน่วยงานของรัฐ 3 ฉบับ คือ ใบอนุญาตให้พำนักอาศัยชั่วคราว  (ทร. 38/1) บัตรประกันสุขภาพและใบอนุญาตทำงาน ตัวเลขเมื่อเดือนพฤษภาคม  2555 มีอยู่รวม 886,507 คน

           (2) แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ  (Nationality Verification ะ NV) ถูกเรียกว่าสั้นๆ  ว่า “กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ” ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 รัฐบาลได้วางมาตรการที่จะปรับสถานภาพของแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมาเป็นแรงงานถูกกฎหมาย  โดยผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ การพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติจาก สปป.ลาวและกัมพูชา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.  2547 โดยแรงงานข้ามชาติจากประเทศลาว
  จะได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (temporary passport)  ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศลาว ขณะที่แรงงานชาวกัมพูชาจะได้เอกสารรับรองตัวบุคคล  (certification of identification) ออกโดยกระทรวงแรงงานของกัมพูชา

          สำหรับแรงงานจากประเทศพม่า  กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2552 โดยระยะแรกมีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันรัฐบาลพม่ายินยอมเข้ามาตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยรวม  5 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี  แรงงานจากประเทศพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจะได้เอกสารการเดินทาง และบัตรประจำตัวประชาชนออกโดยรัฐบาลพม่า

           เมื่อแรงงานข้ามชาติผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ  เท่ากับว่าเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมหรือส่งกลับ และสามารถเดินทางได้ทั่วประเทศไทย  นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางกลับประเทศของตนได้ แต่ถ้าต้องการเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย  ต้องยื่นคำร้องขอกับเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองหลังจากที่กลับออกไปแล้ว แต่แรงงานกลุ่มนี้ต้องรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุก  90 วัน และสามารถขออนุญาตทำงานได้เพียง 4 ปีเท่านั้น  (2 ปี 2 ครั้ง) โดยต้องกลับไปประเทศตนเองนาน  3 ปี จึงจะสามารถขอกลับเข้ามาทำงานในประเทศได้อีกครั้งหลังจากระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน  4 ปีหมดลง ตัวเลขเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 มีอยู่รวม  653,174 คน

          (3) แรงงานข้ามชาติเข้าประเทศผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ  (Memorandum of Understanding ะ MOU) ระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลกัมพูชา ไทย-พม่า และไทย-สปป.ลาวใน พ.ศ. 2545 และ 2546 ได้จัดทำกรอบการทำงานสำหรับแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือที่จะเข้ามาและทำงานในประเทศไทยอย่าง  “ถูกกฎหมาย”1 ภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้แรงงานจะได้รับสวัสดิการสังคม  สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่นเดียวกับแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ2  แรงงานกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าสั้นๆว่า “กลุ่มนำเข้า”  ตัวเลขเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 มีอยู่รวม  100,507 คน

           ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เริ่มมีการนำเข้าแรงงานจากสปป.ลาวและกัมพูชาตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ แต่สำหรับแรงงานจากประเทศพม่า ต้องใช้เวลาถึง  7 ปีในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง และเพิ่งเริ่มมีแรงงานจากประเทศพม่าในปี  2553 เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานที่เข้ามาผ่านบันทึกข้อตกลงไม่สามารถขยายระยะเวลาการทำงานเกินกว่า  4 ปีได้ (2 ปี 2 ครั้ง)  และต้องคอย 3 ปีก่อนที่จะสามารถขอกลับเข้ามาทำงานในประเทศได้อีกครั้งหลังจากระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน  4 ปีหมดลง

           (4) แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน หมายถึงแรงงานที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ไม่ว่าจะมีเอกสารการพำนักชั่วคราว (ทร. 38/1) หรือไม่ก็ตาม จำนวนแรงงานข้ามชาติใต้ดินนี้ไม่มีตัวเลขชัดเจน  แรงงานเหล่านี้มักอยู่ด้วยความหวาดระแวงที่จะถูกจับกุม ถูกข่มขู่และถูกส่งกลับ

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการประสานเพื่อการจ้างงานลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทยและรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของลาวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2545; ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทยและรัฐมนตรีกิจการสังคม  แรงงาน การฝึกอาชีพ และการฟื้นฟูเยาวชนของกัมพูชาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2546; และลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทยและรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์  เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2546

ข่าวการย้ายถิ่น (จดหมายข่าวของกระทรวงแรงงานประเทศไทย, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย,  และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน) เดือนธันวาคม 2550

สมัครสมาชิกจดหมายข่าว

จดหมายข่าวฯ ราย 2 เดือน ปีละ 6 ฉบับ

กรุณากรอก e-mail ของท่าน

(ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)



IPSR Fanpage

Since 25 December 2012