เวทีวิจัยประชากรและสังคม

การดูแลผู้สูงอายุ: ความสุข และความเครียด

รศรินทร์ เกรย์
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ด้วยสุขภาพที่เสื่อมถอยตามวัย หรือความเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ เมื่อถึงระยะหนึ่งผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงผู้อื่นในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น การกินอาหาร การแต่งตัว การขับถ่าย หรือการออกจากบ้าน กล่าวคือต้องพึ่งพิงผู้ดูแล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในสังคมตะวันตก หรือตะวันออก จะเป็นคนในครอบครัว (Family caregiver) ผู้ดูแลส่วนใหญ่ทั่วโลก เป็นหญิง ในวัยผู้ใหญ่ สำหรับประเทศไทย ผู้ดูแลส่วนใหญ่ ได้แก่ ลูก คู่สมรส สะใภ้หรือเขย หรือญาติๆ ตามลำดับ การดูแลโดยคู่สมรสมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การดูแลโดยลูกลดลง จากการวิจัยเชิงคุณภาพของผู้เขียนและคณะ พบว่าการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องให้ผู้อื่นช่วยในการดำรงชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดได้ทั้งอารมณ์ทุกข์ และสุข ซึ่งมีผลต่อคุณภาพการดูแล

การดูแลผู้สูงวัยในสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ปลูกฝังและสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ทั้งในรูปแบบของคำอบรมสั่งสอนและการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทยเรื่อยมา การดูแลพ่อแม่ถือเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ได้ดูแลลูกๆ และยังปรากฏอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน

“ลูกๆทุกคนคิดอยู่เสมอว่า ทั้งพ่อและแม่คือ “พระ” ในบ้านที่ทำให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุขได้จนทุกวันนี้ และ การดูแลพ่อแม่ก็เหมือนกับการสร้างบุญสร้างกุศลอย่างหนึ่ง เมื่อทำแล้วย่อมส่งผลให้เกิดความสุขแก่ผู้กระทำในทันทีทันใด”

การดูแลบุคคลอันเป็นที่รักก่อให้เกิดความสุขแน่นอน แต่เป็นงานหนัก ใช้เวลาและพลังงานมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้รับค่าตอบแทน บางครั้งผู้ดูแลมีหลายบทบาท เช่น นอกจากดูแลผู้สูงอายุแล้ว ยังต้องดูแลคนอื่นๆในครอบครัวตนเอง หรือทำงานนอกบ้านเพื่อก่อให้เกิดรายได้ จึงทำให้เกิดความเครียดด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นลูก

สำหรับความทุกข์สุขที่เกิดจากการดูแลนั้น ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน การทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ที่ดีของลูก ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต โดยเฉพาะผู้ดูแลที่ไม่มีความผูกพันกันทางสายเลือด เช่น คู่สมรส (ภรรยา หรือสามี) การทำหน้าที่สามีภรรยาที่ดี สร้างเนื้อสร้างตัวและสร้างครอบครัวมาด้วยกัน ทำให้เมื่อถึงเวลาที่คนหนึ่งคนใดล้มป่วยหรือแก่ชราลง อีกคนที่ยังแข็งแรงจึงทำหน้าที่ดูแลคู่ชีวิตของตนเป็นอย่างดี

“ลุงดูแลป้าเป็นอย่างดี ลุงรักป้ามากๆ การได้อยู่ร่วมกันกับคู่ชีวิต เป็นคู่ครองกันมา ก็อยู่ด้วยกันด้วยความสุข ป้าเป็นคนดี
เป็นแม่บ้านที่ดีมากๆ”

หรือลูกสะใภ้ที่เกิดความเครียดจากการดูแล เนื่องจากไม่ได้มีความผูกพันกับพ่อแม่สามี และไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

“ใครไม่เป็นลูกสะใภ้ไม่รู้หรอก พ่อผัวแม่ผัวเนี่ย ใครไม่เคยโดนไม่รู้หรอกว่ารู้สึกยังไง ลูกสะใภ้คนไหนไม่ต้องมาดูแลพ่อผัวแม่ผัว ชีวิตเขาคงจะมีความสุขมาก”

การลดความเครียด เพิ่มความสุข ผู้ดูแลต้องมีความเข้าใจผู้สูงอายุด้วยว่า การที่กลายมาเป็นผู้พึ่งพิงผู้อื่น หรือด้วยความเจ็บป่วย ทำให้ผู้สูงอายุมักมีอารมณ์แปรปรวน เจ้าอารมณ์ หงุดหงิด เอาแต่ใจ จนทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดได้ ในทางกลับกันผู้สูงอายุต้องเข้าใจผู้ดูแลด้วยว่าเป็นงานที่หนัก และใช้เวลามาก จึงควรแสดงความรัก และความขอบคุณต่อผู้ดูแล หลักคิดของผู้ดูแลส่วนใหญ่ได้รับผลมาจากการนับถือพระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องบาปบุญว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เป็นผลมาจากเวรกรรมในชาติปางก่อน ซึ่งทำให้สภาพจิตใจของผู้ดูแลมีความเข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ การให้กำลังใจ การพูดชื่นชม และความช่วยเหลือต่างๆ จากเพื่อนบ้าน และชุมชน ทำให้ผู้ดูแลรู้สึกมีความสุขที่ได้ดูแล

ความสุข ทำให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ ส่วนความเครียดอาจทำให้เกิดความรุนแรงต่อผู้สูงอายุได้ ดังนั้นการลดความเครียดและเพิ่มความสุขจากการดูแลจึงมีความสำคัญต่อการกำหนดโครงการในการสร้างเสริมพลังให้ผู้ดูแล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งผู้ดูแลและผู้ที่ได้รับการดูแล ผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัวเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน หรือชุมชนของตนเองได้นานที่สุด ไม่ต้องไปอยู่ในสถาบัน หรือโรงพยาบาล ในมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในระดับครัวเรือนและระดับชาติในการดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันหญิงไทยมีลูกเฉลี่ย 1.6 คน และมีแนวโน้มลดลงอีก ตลอดจนการย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่นของลูกหลาน คนโสดมี
แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในอนาคตการดูแลโดยลูก หรือคนในครอบครัวมีความยากลำบากมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่ต้องค้นหาระบบการดูแลที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในสังคมไทย

[Picture]

คุณภาพการดูแล ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ผ่านมา

 

สมัครสมาชิกจดหมายข่าว

จดหมายข่าวฯ ราย 2 เดือน ปีละ 6 ฉบับ

กรุณากรอก e-mail ของท่าน

(ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)



IPSR Fanpage

Since 25 December 2012